คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะลาออกโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานรวม 4 ปี 9 เดือน 9 วันจำเลยมีข้อบังคับว่า พนักงานที่ลาออกหากมีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ 5 ปีแล้วให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จ และวิธีคำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานตามข้อบังคับกำหนดว่า เศษของปีถ้าถึงหกเดือนให้นับเป็น 1 ปี ดังนี้ ถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ 5 ปี และมีสิทธิได้รับบำเหน็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นพนักงาน โจทก์ลาออกจากงานโดยได้รับอนุญาตจากจำเลยแล้ว รวมเวลาการทำงานของโจทก์ ๔ ปี ๙ เดือน ๙ วันจำเลยมีข้อบังคับกำหนดให้พนักงานซึ่งปฏิบัติงานมาไม่น้อยกว่า ๓ ปี มีสิทธิได้รับบำเหน็จโจทก์ยื่นคำขอรับบำเหน็จ จำเลยไม่จ่ายอ้างว่า จำเลยใช้ข้อบังคับใหม่ซึ่งกำหนดให้พนักงานที่ลาออกมีสิทธิจะได้รับบำเหน็จต่อเมื่อปฏิบัติงานมาครบ๕ ปีแล้วเท่านั้น ข้อบังคับดังกล่าวจำเลยเพิ่งใช้ในภายหลังและไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจึงไม่มีผลใช้บังคับ ขอศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยตั้งแต่วันผิดนัด
จำเลยให้การว่า ข้อบังคับที่จำเลยตราขึ้นใหม่ใช้บังคับก่อนที่โจทก์จะลาออกจากงาน จึงมีผลผูกพันโจทก์ โจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานเพียง ๔ ปี ๙ เดือนไม่ครบ ๕ ปี จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ ส่วนข้อบังคับที่กำหนดว่า เศษของปีถ้าถึง ๖ เดือน ให้นับเป็นหนึ่งปีนั้น เป็นวิธีการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินบำเหน็จจะนำมาใช้คำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานไม่ได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อบังคับจำเลยซึ่งตราขึ้นใหม่นั้นไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา ๒๐ จึงมีผลใช้บังคับ โจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงาน ๔ ปี ๙ เดือน ๙ วัน เศษของปีนับเป็นหนึ่งปี ถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ ๕ ปีมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จพร้อมด้วยดอกเบี้ย (นับแต่วันที่โจทก์ยื่นขอรับบำเหน็จ) แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าการที่โจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงาน ๔ ปี ๙ เดือน ๙ วัน จะถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ ๕ ปี ตามข้อบังคับของจำเลยซึ่งจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือไม่
ถ้าพิจารณาเฉพาะข้อบังคับข้อ ๑๓ โดยไม่พิจารณาข้อบังคับข้ออื่นย่อมเป็นที่เข้าใจกันว่าพนักงานซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จต่อเมื่อมีระยะเวลาปฏิบัติงานจริง ๆ อยู่ในองค์การของจำเลยมาครบ ๕ ปีแล้ว แต่กรณีที่พนักงานได้รับอนุญาตให้ลาออกนี้ ข้อบังคับของจำเลยกำหนดวิธีการคำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานไว้ในข้อ ๑๖ ว่า “การคำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานเพื่อขอรับเงินบำเหน็จ ให้นับตั้งแต่วันที่ได้รับการบรรจุเข้าปฏิบัติงานจนถึงวันสุดท้ายที่ได้ปฏิบัติงาน เศษของปีถ้าถึงหกเดือนให้นับเป็นหนึ่งปี ถ้าไม่ถึงหกเดือนให้ตัดทิ้ง”ดังนั้นการพิจารณาว่าพนักงานคนใดจะมีระยะเวลาปฏิบัติงานเท่าใด จำต้องคำนวณตามหลักเกณฑ์ในข้อนี้ ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อบังคับข้อที่ ๑๖ ที่ว่าเศษของปีถ้าถึงหกเดือนให้นับเป็นหนึ่งปี เป็นวิธีการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินบำเหน็จ ไม่ใช่เพื่อใช้คำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานนั้น เห็นว่าข้อความดังกล่าวระบุไว้ในวรรคเดียวกัน แสดงว่ามีความประสงค์จะให้ใช้ในเรื่องเดียวกัน ทั้งข้อบังคับข้อ ๑๖ กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการคำนวณระยะเวลาปฏิบัติงานให้แก่พนักงานซึ่งได้รับอนุญาตให้ลาออก ไม่ใช่กำหนดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่จำเลย ดังนั้น จะถือว่าเป็นข้อบังคับที่มีไว้สำหรับคิดคำนวณเงินบำเหน็จให้สะดวกและง่ายขึ้นไม่ได้ ต้องถือว่าโจทก์มีระยะเวลาปฏิบัติงานครบ ๕ ปี มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ
พิพากษายืน

Share