แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖/๒๕๕๒
วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๒
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดเชียงราย
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องสหกรณ์สวนส้มดอยวาวี จำกัด ที่ ๑ นายศุภชัย ตีบู ที่ ๒ นายสนอง มานะ ที่ ๓ นายศุภชัย โพธิ์สุวรรณ ที่ ๔ นายสอนชาย เอี่ยวส่วย ที่ ๕ นายสมชาย จาวเจริญพาณิชย์ ที่ ๖ นายพินิจ พิทักษ์วาวี ที่ ๗ นายทวีศักดิ์ วสันหิรัญกิจ ที่ ๘ นายเกษม พูนเพิ่มสินทอง ที่ ๙ นายอนันต์ พงษ์อนันต์กุล ที่ ๑๐ นายธำรง ภัทรวานิชย์กุล ที่ ๑๑ นายบุญตัน ทาแฮ ที่ ๑๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๖๔/๒๕๕๐ ความว่า ผู้ฟ้องคดีตกลงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อใช้ดำเนินการตามโครงการกระจายลิ้นจี่ออกจากแหล่งผลิตโดยใช้ระบบเครือข่ายสหกรณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อปี กำหนดเวลาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๒๓/๒๕๔๘ ลงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระเงินจำนวน ๒,๒๑๕,๐๕๕.๒๕ บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแล้ว คงค้างยอดเงินกู้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๗๙๑,๕๒๐.๐๙ บาท จากนั้นผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของต้นเงินกู้จำนวนดังกล่าว โดยผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อปี เป็นระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ กำหนดชำระต้นเงินปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๔ ปีละ ๑๕๘,๐๐๐ บาท ปีที่ ๕ ชำระ ๑๕๙,๕๒๐.๐๙ บาท ส่วนดอกเบี้ยและค่าปรับค้างชำระจำนวน ๑๘,๕๒๐ บาท กำหนดชำระปีละ ๓,๗๐๔ บาท ตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๐/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ และสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญาในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้เงินกู้ยืม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับหนังสือดังกล่าวโดยชอบแต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๐ จำนวนสองฉบับบอกเลิกสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำเงินจำนวน ๗๙๑,๕๒๐.๐๙ บาท และดอกเบี้ยพร้อมค่าปรับจำนวน ๑๘,๕๒๐ บาท มาชำระให้ผู้ฟ้องคดีภายในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ และมีหนังสือลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองเพิกเฉย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๐/๒๕๔๙ เป็นต้นเงินจำนวน ๗๙๑,๕๒๐.๐๙ บาท ดอกเบี้ยค้างชำระในอัตราร้อยละ ๒ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๘ ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐ จำนวน ๒๘,๗๙๘.๓๑ บาท ค่าปรับค้างชำระตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐ จำนวน ๙,๓๕๐.๑๓ บาท รวมเป็นเงิน ๘๒๙,๖๖๘.๕๓ บาท และรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๑/๒๕๔๙ เป็นต้นเงินจำนวน ๑๘,๕๒๐ บาท ค่าปรับในอัตราร้อยละ ๖ ต่อปี ของต้นเงิน ๓,๗๐๔ บาท ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ ถึงวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๐ เป็นเงิน ๒๑๙.๑๙ บาท รวมเป็นเงิน ๑๘,๗๓๙.๑๙ บาท รวมเป็นเงินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิ้นจำนวน ๘๔๘,๔๐๗.๗๒ บาท ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในเงินดังกล่าวร่วมกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ด้วย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๘๔๘,๔๐๗.๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเสร็จสิ้น
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีอำนาจฟ้อง สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสอง เป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนหลักการบริหารราชการตามนโยบายรัฐบาลและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้หนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการในฐานะตัวแทนตามกิจการที่ได้รับมอบหมายจากผู้ฟ้องคดีในฐานะตัวการให้รับผิดชอบกระจายลิ้นจี่ออกนอกแหล่งผลิตภายใต้ระบบเครือข่ายสหกรณ์โดยการรับซื้อลิ้นจี่ในจังหวัดเชียงรายเพื่อกระจายไปยังสหกรณ์จังหวัดอื่นๆ โดยมีผู้ฟ้องคดีเป็นผู้สนับสนุนทุนในการรับซื้อลิ้นจี่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในลักษณะของเงินกู้ แต่ผลการดำเนินงานปรากฏว่ายอดสั่งซื้อจากสหกรณ์จังหวัดต่ำกว่าปริมาณที่ได้รับมอบหมายจากผู้ฟ้องคดีโดยมิใช่ความผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมีการขอลดยอดหนี้จากสหกรณ์จังหวัดที่สั่งซื้อเนื่องจากลิ้นจี่เน่าเสีย ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ค้างชำระเงินกู้ยืมจึงขอชำระด้วยกล่องกระดาษสำหรับบรรจุลิ้นจี่ที่เหลือแทน แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ยินยอม ผู้ฟ้องคดีในฐานะตัวการต้องรับผิดหรือรับผลความเสียหายในการกระทำของตัวแทนที่ได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากตัวการโดยไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่สัญญาทางปกครอง ศาลปกครองเชียงใหม่จึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
ผู้ฟ้องคดีชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลว่า สัญญากู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นสัญญาที่ผู้ฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองได้มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองเชียงใหม่เห็นว่า การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครองนอกเหนือจากสัญญาลักษณะต่างๆ ที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ นิยามไว้ในมาตรา ๓ แล้ว ยังหมายความรวมถึงสัญญาที่หน่วยงานทางปกครองมอบหมายให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองนั้นด้วย คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมกิจการของสหกรณ์ตกลงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ เพื่อใช้ในการดำเนินการรวบรวมและกระจายผลผลิตลิ้นจี่ออกจากแหล่งผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาลิ้นจี่มิให้ตกต่ำอันเป็นการดำเนินการงานเพื่อจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในหน้าที่ของผู้ฟ้องคดีโดยใช้งบประมาณของทางราชการ กรณีจึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้มอบให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดทำบริการสาธารณะกับผู้ฟ้องคดี สัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นสัญญาทางปกครอง มิได้เป็นสัญญากู้ยืมเงินที่อยู่บนหลักเสรีภาพแห่งการทำสัญญาตามหลักกฎหมายแพ่ง ส่วนสัญญาค้ำประกันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ทำไว้กับผู้ฟ้องคดีเพื่อค้ำประกันสัญญากู้ยืมเงินระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อันเป็นสัญญาหลัก สัญญาค้ำประกันดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นสัญญาทางปกครองด้วย เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดจากสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดเชียงรายเห็นว่า แม้สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองจะมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมายเอกชนซึ่งผู้ฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองจะมีอำนาจเหนือคู่สัญญา แต่ในกรณีนี้ผู้ฟ้องคดีได้ลดฐานะสละสิทธิ์การเป็นองค์กรผู้มีอำนาจเหนือคู่สัญญามาตกลงยินยอมทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันกับผู้ถูกฟ้องคดีในฐานะที่มีอำนาจเท่าเทียมกัน ทั้งเมื่อพิจารณาวัตถุแห่งสัญญาแล้ว สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นการก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ของคู่สัญญาตามกฎหมายเอกชนที่หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ เจ้าหนี้ชอบจะร้องขอต่อศาลเพื่อบังคับชำระหนี้เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้นได้ ทั้งอำนาจแห่งมูลหนี้เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ เป็นต้น ซึ่งการบังคับนิติกรรมและสัญญาดังกล่าวจะต้องบังคับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหลักหนี้ นิติกรรมและสัญญา แม้ผู้ฟ้องคดีจะมีหน้าที่ส่งเสริมกิจการของสหกรณ์และตกลงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อใช้รวบรวมและกระจายผลผลิตลิ้นจี่ออกจากแหล่งผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาลิ้นจี่มิให้ตกต่ำอันเป็นการดำเนินงานจัดทำบริการสาธารณะและมีการใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาทางปกครองย่อมพิจารณาจากหลักการจัดทำบริการสาธารณะอันมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ แต่การพิจารณาหลักเกณฑ์การจัดทำบริการสาธารณะอย่างกว้างจนเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อระบบกระบวนการยุติธรรมได้ โดยข้อพิพาทใดที่มีวัตถุประสงค์คาบเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะแต่ยังต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อพิพาทดังกล่าวยังเป็นข้อพิพาททางแพ่ง อาทิเช่น สัญญากู้ยืมเงินและค้ำประกันระหว่างกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษากับนักเรียนนักศึกษาและผู้ปกครองของนักเรียนและนักศึกษา เป็นต้น ทั้งเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันในคดีนี้มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งเพื่อวัตถุประสงค์ใด แม้เชื่อได้ว่าการกู้ยืมเงินของผู้ถูกฟ้องคดีกับผู้ฟ้องคดีเกิดขึ้นเพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาเสถียรภาพของราคาลิ้นจี่มิให้ตกต่ำก็เป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น ส่วนการรักษาเสถียรภาพของราคาลิ้นจี่ยังคงมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรวบรวมและกระจายผลผลิตลิ้นจี่ต่อไป แม้เงินในการให้กู้ยืมจะเป็นเงินงบประมาณของทางราชการก็มิใช่การชี้ชัดประการใดว่าสัญญาดังกล่าวจะเป็นสัญญาทางปกครองและไม่ปรากฏว่าการจัดทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองมีการใช้อำนาจของผู้ฟ้องคดีในฐานะหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาแต่ประการใด แต่เป็นการตกลงด้วยความสมัครใจและมีการกำหนดเงื่อนไขของสัญญาไว้ แม้จะทำให้คู่สัญญาบางฝ่ายได้เปรียบคู่สัญญาบางฝ่าย แต่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งยินยอมย่อมเป็นไปตามอำนาจในการเจรจาของคู่สัญญาที่อาจมีอำนาจในการเจรจาแตกต่างกัน แต่ยังอยู่บนหลักพื้นฐานของการแสดงเจตนาในการทำสัญญา ดังนั้น สัญญากู้ยืมเงินและค้ำประกันดังกล่าวจึงมิใช่สัญญาทางปกครองที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใดไม่ แต่เป็นสัญญาทางแพ่งที่ใช้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์บังคับ ดังนั้น ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน จึงได้แก่ศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้สรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีตกลงให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อใช้ดำเนินการตามโครงการกระจายลิ้นจี่ออกจากแหล่งผลิตโดยใช้ระบบเครือข่ายสหกรณ์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเงินจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อปี กำหนดเวลาชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระเงินบางส่วนคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดี คงค้างยอดเงินกู้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องชำระให้แก่ผู้ฟ้องคดีจำนวน ๗๙๑,๕๒๐.๐๙ บาท ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของต้นเงินกู้จำนวนดังกล่าวตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๐/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ และเลขที่ ๑๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ โดยผู้ฟ้องคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๒ ต่อปี เป็นระยะเวลา ๕ ปี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ ต่อมา
เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผิดนัดชำระหนี้ ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชำระหนี้เงินกู้ยืมแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพิกเฉย ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำเงินจำนวน ๗๙๑,๕๒๐.๐๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับจำนวน ๑๘,๕๒๐ บาท มาชำระให้ผู้ฟ้องคดีภายในวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ และมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ในฐานะผู้ค้ำประกันเงินกู้ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองเพิกเฉย ขอให้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๘๔๘,๔๐๗.๗๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าปรับนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระคืนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเสร็จสิ้น ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสิบสองให้การว่า สัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกันเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนหลักการบริหารราชการตามนโยบายรัฐบาลและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ นอกจากนี้หนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กระทำการในฐานะตัวแทน ผู้ฟ้องคดีในฐานะตัวการต้องรับผิดหรือรับผลความเสียหาย ในการกระทำของตัวแทนที่ได้กระทำไปในกิจการที่ได้รับมอบหมายจากตัวการโดยไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อหรือปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจ คดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า สัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๐/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ และเลขที่ ๑๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดี เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๙ (๑๑) มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริม เผยแพร่ ให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ในการเพิ่มขีดความสามารถในด้านการบริหารการจัดการ การดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการเชื่อมโยงธุรกิจสหกรณ์สู่ระดับสากล เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีฟ้องให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินเลขที่ ๑๐/๒๕๔๙ และเลขที่ ๑๑/๒๕๔๙ อันเป็นสัญญาเงินกู้เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของผู้ถูกฟ้องคดีในคดีนี้ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางแพ่ง ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาค้ำประกันระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๑๒ ซึ่งเป็นสัญญาอุปกรณ์จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมเช่นเดียวกัน
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง กรมส่งเสริมสหกรณ์ ผู้ฟ้องคดี สหกรณ์สวนส้มดอยวาวี จำกัด ที่ ๑ นายศุภชัย ตีบู ที่ ๒ นายสนอง มานะ ที่ ๓ นายศุภชัย โพธิ์สุวรรณ ที่ ๔ นายสอนชาย เอี่ยวส่วย ที่ ๕ นายสมชาย จาวเจริญพาณิชย์ ที่ ๖ นายพินิจ พิทักษ์วาวี ที่ ๗ นายทวีศักดิ์ วสันหิรัญกิจ ที่ ๘ นายเกษม พูนเพิ่มสินทอง ที่ ๙ นายอนันต์ พงษ์อนันต์กุล ที่ ๑๐ นายธำรง ภัทรวานิชย์กุล ที่ ๑๑ นายบุญตัน ทาแฮ ที่ ๑๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
??
??
??
??
๗