คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 648/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้รถยนต์ของโจทก์ร่วมที่ 2 จะได้รับความเสียหาย แต่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบกฯโจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ไปตามทางเดินเล็ก ๆ ซึ่งเป็นทางคนเดินตัดตรงขึ้นถนนพระรามที่ 2 ขาเข้า เป็นการกระทำผิดกฎจราจร เมื่อจำเลยไม่ดูให้ดีว่ามีรถอื่นแล่นมาเพื่อความปลอดภัยเมื่อเกิดเหตุชนกันขึ้น ถือได้ว่าเกิดจากความประมาทของจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291พระราชบัญญัติ จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายเกียรติศักดิ์ จันทร์รุ่งสกุล สามีของนางพัชรา จันทร์รุ่งสกุล และนายไพบูลย์ สนธิกร ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยเรียกนายเกียรติศักดิ์เป็นโจทก์ร่วมที่ 1 และนายไพบูลย์เป็นโจทก์ร่วมที่ 2 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(8), 157การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นบทหนักตามมาตรา 90 จำคุก6 ปี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และโจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร3 ฌ-0252 โดยมีผู้ตายนั่งซ้อนท้ายออกจากซอยวัดสีสุกแล้วแล่นจากช่องเดินรถที่ 1 เข้าไปในช่องเดินรถที่ 2 บนถนนพระรามที่ 2จึงถูกรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ฉ-3811 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายไพบูลย์ สนธิกร โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้ขับมาบนถนนพระรามที่ 2ในช่องเดินรถที่ 2 และในทิศทางเดียวกันตามแผนที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ.8 ชน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย สำหรับปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 ที่ว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายคดีนี้และมีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้นั้น เห็นว่าแม้โจทก์ร่วมที่ 2 จะได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สินคือรถยนต์แต่ก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43, 157 ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ร่วมที่ 2ไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานนี้โดยตรงจึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ส่วนข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางพัชรา จันทร์รุ่งสกุล ถึงแก่ความตายนั้น โจทก์ร่วมที่ 2ก็มิใช่ผู้เสียหายในข้อหานี้เช่นกัน โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายคดีนี้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 2เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ร่วมที่ 2จึงไม่มีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาโจทก์ร่วมที่ 2
ส่วนปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อขับรถยนต์แล่นมาจะถึงจุดชนเห็นรถจักรยานยนต์อยู่ข้างหน้าประมาณ 2 เมตรจึงห้ามล้อแต่ไม่พ้นเนื่องจากระยะกระชั้นชิด รถยนต์จึงชนด้านหลังข้างขวารถจักรยานยนต์ล้มลง ส่วนจำเลยเบิกความว่า ได้ขับรถจักรยานยนต์ขึ้นไปตามถนนพระรามที่ 2 ขาเข้า ประมาณ 50 เมตรก็ถูกรถยนต์ชนล้มลง เมื่อพิจารณาตามแผนที่เกิดเหตุ เอกสารหมาย จ.8ประกอบคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกวันชัย อิทธิฤทธิ์ ว่า ตรงทางออกจากซอยวัดสีสุก รถจักรยานยนต์ของจำเลยจะไปออกถนนพระรามที่ 2เพื่อเลี้ยวเข้าทางขาออกจะต้องไปเลี้ยวใต้ทางด่วน โดยจะต้องขับไปตามถนนคู่ขนานของถนนพระรามที่ 2 ขาเข้าตามลูกศร แต่จำเลยกลับขับไปตามทางเล็ก ๆ ตัดตรงขึ้นถนนพระรามที่ 2 ขาเข้า ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎจราจร และตรงท้องร่องที่เป็นช่องทางขึ้นถนนพระรามที่ 2 เป็นช่องแคบ ไม่ได้ทำไว้สำหรับการจราจรข้ามไปบนถนนพระรามที่ 2 แต่เป็นทางคนเดิน จำเลยก็ทราบแต่ก็ยังฝ่าฝืนกระทำ จึงเห็นได้ว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรแต่เบื้องต้นเมื่อพิจารณาจุดชนตามแผนที่เกิดเหตุ ว่าจำเลยขับรถจักรยานยนต์ขึ้นมาบนถนนพระรามที่ 2 แล้ว จำเลยยังขับรถจักรยานยนต์ไปอีก46 เมตร จึงถูกชนในช่องเดินรถที่ 2 ใกล้ช่องว่างสำหรับกลับรถระหว่างถนนพระรามที่ 2 ขาเข้ากับขาออก จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้ขับรถจักรยานยนต์ตัดถนนตรงไปช่องว่างสำหรับกลับรถเพื่อออกไปตามถนนพระรามที่ 2 ขาออก ที่จำเลยอ้างว่าต้องขับออกไปเช่นนั้นไม่ขับตามช่องเดินรถซ้ายมือเพราะมีรถประจำทางจอดอยู่จึงขัดต่อเหตุผลเพราะถ้าเป็นดังที่จำเลยอ้างเมื่อจำเลยขับรถจักรยานยนต์พ้นรถประจำทางแล้ว จำเลยก็ควรจะขับกลับมาชิดช่องเดินรถด้านซ้ายมือไม่ใช่ขับไปไกลถึง 46 เมตร จนถูกชนเห็นว่า การที่จำเลยขับรถจักรยานยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรเข้าไปในช่องเดินรถที่ 2 โดยไม่ดูให้ดีว่ามีรถอื่นแล่นมาอันจะเป็นความปลอดภัยเพียงพอหรือไม่ เมื่อเกิดเหตุชนกันขึ้น ถือได้ว่าเกิดจากความประมาทของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้องที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมมานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยหนักเกินไปสมควรกำหนดโทษจำเลยให้เบาลง”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(8), 157การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดจำคุก 3 ปี ข้อนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share