คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 24/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นพิพาทว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือหมู่ ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาโดยยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวและตามคำฟ้องของโจทก์กับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทดังนั้น หากจำเลยได้ใช้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปปักป้ายโฆษณาไถปรับพื้นดิน และทำการก่อสร้างในที่ดินพิพาทซึ่งแม้จะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากฟ้องคดี แต่ก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีแม้โจทก์จะร้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามมิให้กระทำการใด ๆในที่ดินพิพาทตามคำร้องของ โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2)(เดิม) ก็ตามแต่เมื่อปรากฏตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์เองว่า จำเลย ได้เข้าไปทำการบนที่ดินพิพาทของโจทก์และลงมือปรับพื้นที่ทำการก่อสร้างตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาเป็นเวลา 5 เดือนเศษดังนั้น การยื่นคำขอของโจทก์จึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์มาใช้แก่จำเลย ในคดีนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยเช่นเดียวกัน ตาม พฤติการณ์ในกรณีเช่นนี้จึงยังไม่สมควรที่ศาลจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) มาใช้แก่ จำเลยตามคำขอของโจทก์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองของโจทก์เข้าจับจองครอบครองทำประโยชน์เมื่อประมาณ 116 ปี มาแล้วจากนั้นตกทอดทางมรดกมายังนายรุ่ง บุญร่วม บิดาโจทก์จนกระทั่ง พ.ศ. 2479 นายรุ่น ก็ยกให้โจทก์ โจทก์ได้เข้าครอบครองอย่างเจ้าของสืบต่อมาจนปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 51 ปีระหว่างที่โจทก์ครอบครองอยู่นั้นโจทก์ยกที่ดินส่วนหนึ่งทางด้านทิศตะวันตกเนื้อที่ 37 ไร่ ให้แก่หน่วยราชการเร่งรัดพัฒนาชนบทกับสถานีวิทยุกระจายเสียงการสื่อสาร และแบ่งขาให้ผู้มีชื่อเนื้อที่ 18 ไร่ คงเหลือเนื้อที่ดินในปัจจุบัน 60 ไร่เศษ ราคา300,000 บาท ต่อมาโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนายอำเภอเมืองสุรินทร์ มีอำนาจหน้าที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองสุรินทร์ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 เพิกเฉย หลังจากนั้นโจทก์ได้ขอให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติราชการให้เป็นไปตามตัวบทกฎหมาย และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์ มีอำนาจหน้าที่ในการออกโฉนดที่ดิน ออกโฉนดที่ดินพิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่ออกให้ โดยจำเลยทั้งสามอ้างว่าที่ดินพิพาทอยู่เขตทำเลเลี้ยงสัตว์ แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันออกหนังสือสั่งให้สามีและบุตรของโจทก์ซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทรื้อถอนโรงเรือนที่โจทก์ปลูกสร้างไว้ออกไปจากที่ดินพิพาทอ้างว่าจะนำที่ดินพิพาทไปทำเป็นสวนสมเด็จฯ เพื่อฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบในวันที่ 5 ธันวาคม 2530 อันเป็นการโต้แย้งสิทธิและละเมิดต่อโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวาร ห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสามออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันและได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ส่วนโจทก์เข้าครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแม้จะครอบครองนานเท่าไรก็ไม่ทำให้ได้สิทธิ นอกจากนี้ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าที่พิพาทคดีนี้เป็นทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จำเลยทั้งสามมีหน้าที่ดูแลรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทได้ ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาขับไล่โจทก์และบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องว่าจำเลยทั้งสามใช้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคูย่งฮวดสุรินทร์ ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปปักป้ายโฆษณาไถปรับพื้นดินและทำการก่อสร้างสวนสมเด็จฯ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ในที่ดินพิพาทเป็นบริเวณ19 ไร่ 19 ตารางวา ทำให้ที่ดินและต้นข้าวที่โจทก์ปลูกไว้เสียหายขอให้มีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการดังกล่าวไว้ในระหว่างการพิจารณาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
จำเลยทั้งสามคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างฟ้องและฟ้องแย้งแย่งการครอบครองที่ดินพิพาท และต่างขอให้ห้ามอีกฝ่ายหนึ่งเกี่ยวข้องกับที่พิพาท ดังนี้ ยังไม่สมควรที่ศาลจะสั่งห้ามมิให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่พิพาท กรณีตามคำร้องของโจทก์ไม่มีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีคุ้มครองตามคำขอมาใช้ มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า แม้จำเลยทั้งสามจะได้สั่งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคูย่งฮวดสุรินทร์เข้าไปปักป้ายโฆษณา ไถปรับพื้นดิน และก่อสร้างอาคารในที่ดินพิพาทตามที่โจทก์อ้างจริงการกระทำดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่มิใช่เป็นการกระทำซ้ำหรือการกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดการผิดสัญญาหรือการกระทำที่จำเลยทั้งสามถูกโจทก์ฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 255 วรรคสาม (ก)จึงมิอาจมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสามได้ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่าโจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลสั่งห้ามจำเลยทั้งสามมิให้เข้าไปกระทำการก่อสร้างสวนสมเด็จฯ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ในที่ดินพิพาทเป็นบริเวณ 19 ไร่ 19 ตารางวา ตามที่โจทก์ร้องขอให้นำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษามาใช้หรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(เดิม) บัญญัติว่า”ในคดีอื่น ๆ นอกจากคดีมโนสาเร่ โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลพร้อมกับคำฟ้อง หรือในเวลาใด ๆ ก่อนพิพากษา ซึ่งคำขอฝ่ายเดียวร้องขอให้ศาลมีคำสั่งภายในบังคับแห่งเงื่อนไขซึ่งจะกล่าวต่อไป เพื่อจัดให้มีวิธีคุ้มครองอย่างใด ๆ ดังต่อไปนี้ (2) ให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไปซึ่งการละเมิดหรือการผิดสัญญา หรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้องหรือขอให้มีคำสั่งให้หยุดหรือป้องกันการเปลืองไปเปล่าการบุบสลายซึ่งทรัพย์สินใด ๆ ที่พิพาทจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือมีคำสั่งศาลเป็นอย่างอื่น” คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสามออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้โจทก์แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะอ้างว่าจำเลยทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทซึ่งอ้างว่าเป็นของโจทก์ ด้วยการไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาทให้โจทก์รวมทั้งมีคำสั่งให้สามีและบุตรของโจทก์รื้อถอนโรงเรือนที่โจทก์ปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทก็ตาม แต่เมื่อจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันโจทก์ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท คดีจึงมีประเด็นพิพาทกันว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตทุ่งทำเลเลี้ยงสัตว์ เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ ซึ่งคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาโดยยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นดังกล่าว และตามคำฟ้องของโจทก์กับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสามรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท ดังนั้น หากจำเลยทั้งสามได้ใช้ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคูย่งฮวดสุรินทร์ ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้าไปปักป้ายโฆษณาไถปรับพื้นดินและทำการก่อสร้างสวนสมเด็จฯ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 19 ไร่ 19 ตารางวา ซึ่งแม้จะเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่ก็ตามย่อมอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ได้ หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โจทก์จึงชอบที่จะร้องขอให้ห้ามจำเลยทั้งสามมิให้กระทำการใด ๆ ในที่ดินพิพาทตามคำร้องของโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) ดังกล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสามได้เข้าไปทำการบนที่ดินพิพาทของโจทก์กำหนดลงมือทำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2537 โดยมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดคูย่งฮวดสุรินทร์เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและลงมือปรับพื้นที่ทำการก่อสร้าง แต่โจทก์เพิ่งยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาลเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2537 หลังจากที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้เข้าดำเนินการก่อสร้างสวนสมเด็จฯ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์ไปแล้วเป็นเวลา 5 เดือนเศษ ดังนั้นการยื่นคำขอของโจทก์จึงล่วงเลยเวลาอันสมควร ทั้งหากจะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามคำขอของโจทก์มาใช้แก่จำเลยทั้งสามในคดีนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยทั้งสามเช่นเดียวกันศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ในกรณีเช่นนี้ยังไม่สมควรที่จะนำวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254(2) มาใช้แก่จำเลยทั้งสามตามคำขอของโจทก์
พิพากษายืน

Share