คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2125/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องและตีราคาทรัพย์สินที่พิพาทรวมกันมา แต่กรรมสิทธิ์ที่โจทก์ขอแบ่งซึ่งแต่ละคนกล่าวอ้างสามารถแยกต่างหากจากกันได้ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ย่อมต้องถือตามราคาที่ดินที่โจทก์แต่ละคนอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสามตีราคาที่ดินพิพาทจำนวน 15 ไร่ เป็นเงิน 100,000 บาท ดังนั้น ราคาที่ดินพิพาทเนื้อที่ 5 ไร่ ที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งเมื่อคำนวณแล้วมีราคาไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง การรับรองอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันสมควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น ต้องเป็นการรับรองโดยชัดแจ้ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่า รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วันเป็นคำสั่งที่ไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสามคนละ 5 ไร่และพิพากษาให้โจทก์ทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวร่วมกันกับจำเลย หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนแบ่งที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดก จำเลยหักร้างถางพงก่น สร้างที่ดินพิพาทจากสภาพป่าจนเป็นที่นาเป็นเวลา 40 ปีแล้ว และไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของที่ดิน มิได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนโจทก์ทั้งสามและทายาทอื่น โจทก์ทั้งสามไม่เคยเข้าเกี่ยวข้องจำเลยไม่เคยตกลงแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ทั้งสามฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่า ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่ คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 2142ตำบลสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื้อที่ 32 ไร่3 งาน 58 ตารางวา เป็นทรัพย์มรดกของนายคำหรือคำสีและนางเลิงหรือเริง ราศรี ผู้ตาย โจทก์ทั้งสามและจำเลยต่างเป็นบุตรของผู้ตายและร่วมกันครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งสามคนละ 5 ไร่คิดเป็นที่ดินรวมกัน 15 ไร่ ซึ่งโจทก์ทั้งสามตีราคามาในคำฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทตามฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่เป็นทรัพย์ของจำเลยที่ก่น สร้างจากสภาพป่าจนเป็นที่นามาประมาณ 40 ปีแล้วจำเลยขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทในนามของจำเลย มิได้กระทำการแทนโจทก์ทั้งสามหรือทายาทอื่น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทมิใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตายและฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า ฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม มีราคาทุนทรัพย์ไม่เกินคนละ 50,000 บาทโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์โต้เถียงในข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามดังนี้ จึงมีปัญหาว่าจะคิดทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์อย่างไร เห็นว่าแม้โจทก์ทั้งสามจะฟ้องและตีราคาทรัพย์สินที่พิพาทรวมกันมาแต่กรรมสิทธิ์ที่โจทก์ขอแบ่งซึ่งแต่ละคนกล่าวอ้างสามารถแยกต่างหากจากกันได้ ราคาทรัพย์สินที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ย่อมต้องถือตามราคาที่ดินที่โจทก์แต่ละคนอ้างว่ามีกรรมสิทธิ์เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาว่าต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงหรือไม่เมื่อโจทก์ทั้งสามตีราคาที่ดินพิพาทจำนวน 15 ไร่ เป็นเงิน100,000 บาท ดังนั้น ราคาที่ดินพิพาทเนื้อที่ 5 ไร่ ที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งเมื่อคำนวณแล้วมีราคาไม่เกิน 50,000 บาทจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อต่อไปมีว่าการที่ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม ถือว่าศาลชั้นต้นได้รับรองให้โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงแล้วนั้น เห็นว่า การรับรองอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้นั้น ต้องเป็นการรับรองโดยชัดแจ้งเมื่อได้พิเคราะห์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามแล้ว มีข้อความว่า”รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ ให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์หากไม่ปรากฏว่าจำเลยมีภูมิลำเนาแห่งอื่นแล้วให้ปิดหมายได้” คำสั่งดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ด้วยเลย จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 อันจะทำให้ปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้มาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share