แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์และจำเลยต่างเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองและต่างได้รับจัดสรรที่ดินคนละหนึ่งแปลง ต่อมาจำเลย ขายที่ดินซึ่งได้รับการจัดสรรให้โจทก์แต่ไม่สามารถโอนสิทธิให้โจทก์ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขข้อห้ามโอนตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 จำเลยจึงได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองเพียงอย่างเดียวโดย มีข้อตกลงระหว่างกันเองว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนสิทธิให้โจทก์เมื่อมีกฎหมายหรือกฎระเบียบอนุญาตให้ทำได้ ดังนี้เมื่อโจทก์และจำเลยจงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมี วัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ แม้จำเลยจะไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์ก็ไม่อาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ และในเมื่อจำเลยก็ปฏิบัติฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าวเช่นเดียวกับโจทก์ การที่จำเลยได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิทุกประการเหนือ ที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทเช่นกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดิน ตามหนังสือรับรองการ ทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แก่โจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ขับไล่โจทก์ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ให้การขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 และ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โจทก์และจำเลยเป็นสมาชิกนิคม จำเลยได้รับจัดสรรที่ดินพิพาทให้เข้าครอบครอง ส่วนโจทก์ได้รับจัดสรรที่ดินแปลงอื่นให้เข้าครอบครองอยู่แล้ว เมื่อปี 2524 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และนายกรุ่น สามีโจทก์ โดยจำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์และสามีเข้าครอบครอง จำเลยเองย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น แต่โจทก์และสามีไม่อาจอ้างชื่อตนเหนือที่ดินพิพาทแสดงต่อนิคมหรือทางราชการได้ เนื่องจากโจทก์และสามีมีที่ดินที่ได้รับจัดสรรอยู่ก่อนแล้ว เมื่อนำมารวมกับที่ดินพิพาทจะเกินสิทธิที่จะพึงได้รับจัดสรร ประการหนึ่ง และ พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ห้ามโอนสิทธิการเข้าทำประโยชน์ ให้ผู้อื่นในขณะนั้นโดยไม่ได้รับอนุญาต อีกประการหนึ่ง โจทก์และสามีจึงต้องปล่อยให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรร ในนามจำเลยเป็นผู้ครอบครองต่อมา และขอให้ทางราชการออกหลักฐานเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในนามจำเลยตลอดมา โดยมีข้อตกลงระหว่างกันเองว่า จำเลยจะจดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินพิพาทให้โจทก์และสามี เมื่อถึงเวลาที่กฎหมายหรือกฎระเบียบอนุญาตให้กระทำได้ แต่จำเลยบิดพลิ้ว ข้อที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอน สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ให้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์จงใจหลีกเลี่ยงข้อห้ามตาม พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 การกระทำของโจทก์มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะ และพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด คงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีสิทธิฟ้องแย้ง ขอให้ขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อสัญญาระหว่างโจทก์ สามีโจทก์และจำเลยจะตกเป็นโมฆะ โจทก์และสามีไม่อาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่จำเลยเอง ก็ปฏิบัติ ฝ่าฝืน พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 และจำเลยได้สละสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยย่อมหมดสิทธิทุกประการเหนือที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาท
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.