แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายมีสิทธิได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายเพราะเหตุละเมิด ข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้าที่ในการอุปการะของผู้ตายในฐานะสามีของโจทก์ที่มีต่อโจทก์จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ตามที่โจทก์เรียกร้องเป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันทำละเมิดคือ วันที่ 17 มกราคม 2554 จึงมากเกินสมควร กรณีมีเหตุสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ใหม่ตามส่วนที่โจทก์เรียกร้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันทำละเมิดจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โจทก์ถึงแก่ความตาย นางอัมพร ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า การปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาท แต่คำพิพากษาคดีอาญาไม่ผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และจำเลยทั้งสามยังนำสืบต่อสู้คดีนี้ได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย แต่เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์และพยานจำเลยทั้งสามต่างยันคำกันอยู่ จึงยังฟังข้อเท็จจริงเป็นทางใดทางหนึ่งยังไม่ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ว่า ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ตายซึ่งถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่า เอกสารดังกล่าวไม่ปรากฏว่าควรสั่งไม่ฟ้องผู้ตายในข้อหาใดและผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่อย่างไร ทั้งจำเลยทั้งสามก็มิได้นำพยานมาสืบในข้อนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์นั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้าง ส่วนจำเลยที่ 3 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายไม่มีส่วนประมาทด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินตามกรมธรรม์ทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 3 มิได้นำสืบให้เห็นว่าได้ชดใช้เงินตามกรมธรรม์ทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ภาคสมัครใจ เป็นเงิน 500,000 บาท และตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นเงิน 200,000 บาท รวมเป็นเงิน 700,000 บาท แต่ในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นมิได้จำกัดวงเงินความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 700,000 บาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสามที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ปิดอากรแสตมป์ในหนังสือมอบอำนาจไม่ถูกต้องครบถ้วน ผู้ตายมีส่วนร่วมในความประมาทจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้ด้วย และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยไว้ถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
อนึ่ง ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ค่าสินไหมทดแทนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดสูงเกินไปนั้น เห็นว่า ในส่วนค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดนั้น เป็นจำนวนที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดในคดีนี้แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2556 หน้าที่ในการอุปการะของผู้ตายในฐานะสามีของโจทก์ที่มีต่อโจทก์จึงสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้องค่าขาดไร้อุปการะเป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันทำละเมิดคือวันที่ 17 มกราคม 2554 จึงมากเกินสมควร กรณีมีเหตุสมควรกำหนดค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์ใหม่ เป็นเงิน 157,500 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์และค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพแล้ว เป็นเงิน 517,500 บาท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์แล้วบางส่วนเป็นเงิน 120,000 บาท ดังนี้ จำเลยทั้งสามจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสิ้น 397,500 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 397,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7