คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12017/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการที่เกิดเหตุที่รถซึ่งโจทก์รับประกันภัยสูญหายจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์และหน้าที่ตามกฎหมาย สำหรับหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบริษัทรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัยอันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ชำระเงิน 327,232 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 320,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงิน 327,232 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 320,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 4 ประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ที่ว่าทำต่อบุคคลอื่น หมายถึง ทำหรือการกระทำต่อสิทธิของบุคคลอื่น ซึ่งรวมถึงการงดเว้นไม่กระทำกรณีมีหน้าที่ต้องกระทำด้วย โดยหน้าที่ดังกล่าวรวมถึงหน้าที่ตามสัญญา หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ และหน้าที่ตามกฎหมาย คดีนี้เมื่อได้พิจารณาถึงหน้าที่ตามสัญญาไม่ปรากฏว่ามีสัญญาระหว่างฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย สำหรับตามสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัย เป็นสัญญาระหว่างจำเลยที่ 4 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 ซึ่งก็เป็นไปตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกา กล่าวคือ ข้อ 1 ระบุชัดว่า ทรัพย์สินในความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง ได้แก่ทรัพย์สินของผู้ว่าจ้างและทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองของผู้ว่าจ้างทั้งหมดภายในเขตรับผิดชอบตามที่ระบุไว้ในผังแสดงเขตแนบท้ายสัญญา อาทิ ตัวอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ หลอดและโคมไฟฟ้า ฝาปิดท่อระบายน้ำ ฯลฯ รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในตัวอาคารในส่วนที่ยังไม่มีผู้อยู่อาศัยอีกด้วย เอกสารรายละเอียดแนบท้ายสัญญาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งสัญญา ระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของยามของผู้รับจ้างไว้ในข้อ 4.1 ว่า รักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ยกเว้นทรัพย์สินต่าง ๆ ภายในอาคารในส่วนที่ผู้ว่าจ้างส่งมอบอาคารแก่ผู้เช่า ผู้เช่าซื้อหรือผู้ซื้อแล้ว ผู้รับจ้างต้องจัดหายามมาปฏิบัติการวันละ 4 คน แบ่งเป็น 3 ผลัด ซึ่งเห็นได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดูแลรักษาความปลอดภัยเป็นการจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 เท่านั้น ไม่ได้จ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้พักอาศัยหรือผู้เช่าห้องพักในโครงการด้วยแต่อย่างใด จำเลยที่ 4 จึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ ส่วนหน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์ก็ได้ความมาแล้วว่าทางปฏิบัติจำเลยที่ 4 ไม่ได้จัดให้มีการตรวจรถที่แล่นเข้าออกโครงการ ไม่ได้จัดให้มีการแลกบัตรหรือแจกบัตรแก่ผู้ขับรถเข้าออกโครงการ อันอาจทำให้เห็นเป็นปริยายถึงพฤติกรรมของจำเลยที่ 4 ว่าจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่ทรัพย์สินของผู้เช่าห้องในโครงการ สำหรับหน้าที่ตามกฎหมายคือประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 4 เช่าทรัพย์ มาตรา 546 ถึงมาตรา 551 ก็ไม่ได้บัญญัติให้จำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดเพื่อความสูญหายอันเกิดแก่ทรัพย์สินของผู้เช่า ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 4 ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้ให้เช่า ประมาทเลินเล่อทำต่อผู้เช่าห้องในโครงการโดยผิดกฎหมายให้ผู้เช่าเสียหายแก่รถที่โจทก์รับประกันภัย อันจะเป็นการทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เช่ารวมทั้งโจทก์ผู้รับประกันภัย โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องจำเลยที่ 4 ได้ จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 4 ฟังขึ้น และเป็นกรณีมูลความแห่งคดีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share