แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายกล่าวอ้างในเรื่องมีข้อความในสัญญากู้เงินที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมพิมพ์ขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมตกลงจากโจทก์ แต่เป็นการบรรยายกล่าวอ้างว่า บรรษัทเงินทุนฯ ดังกล่าวผิดสัญญาที่ถ่วงเวลาและชะลอการจ่ายเงินกู้ตามสัญญาโดยไม่แจ้งเหตุผลให้โจทก์ทราบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว
โจทก์และจำเลยตกลงกันให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเข้าค้ำประกันวงเงินสินเชื่อของจำเลยที่มีต่อโจทก์ และหากบรรษัทดังกล่าวไม่ค้ำประกันโจทก์ตกลงให้จำเลยมีสิทธิในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินกู้ เนื่องจากหลักประกันไม่ครอบคลุมวงเงินทั้งหมดที่โจทก์ได้รับอนุมัติให้กู้ อันเป็นการลดภาระความเสี่ยงจากการที่หลักประกันไม่คุ้มจำนวนหนี้ การกำหนดให้เป็นสิทธิของจำเลยผู้ให้กู้ฝ่ายเดียวในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินกู้ จึงไม่ใช่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 (3)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 185,333,525 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 476 ตำบลหนองแวงนางเบ้า อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ข้อความในสัญญากู้เงิน ที่ว่า “ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ค้ำประกันในวงเงินตามที่ผู้ให้กู้กำหนด หากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่อนุมัติค้ำประกันหรือค้ำประกันบางส่วน ผู้กู้ตกลงยินยอมให้เป็นสิทธิของผู้ให้กู้ฝ่ายเดียวในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินกู้” เป็นข้อความที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมพิมพ์ขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมตกลงจากโจทก์ จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายกล่าวอ้างในเรื่องมีข้อความในสัญญากู้เงินที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมพิมพ์ขึ้นเองโดยไม่ได้รับความยินยอมตกลงจากโจทก์ แต่เป็นการบรรยายกล่าวอ้างว่า บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมผิดสัญญาที่ถ่วงเวลาและชะลอการจ่ายเงินกู้ตามสัญญาโดยไม่แจ้งเหตุผลให้โจทก์ทราบ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า ข้อความในสัญญากู้เงิน ที่ว่า “ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ค้ำประกันในวงเงินตามที่ผู้ให้กู้กำหนด หากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่อนุมัติค้ำประกันหรือค้ำประกันบางส่วน ผู้กู้ตกลงยินยอมให้เป็นสิทธิของผู้ให้กู้ฝ่ายเดียวในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินกู้” เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 (3) หรือไม่ เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ที่จะให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเข้ามาเป็นผู้ค้ำประกันเพิ่มเติม เนื่องจากตามรายงานวิเคราะห์โครงการขอสินเชื่อ ระบุว่า บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมตีราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่มีอยู่เดิมของโจทก์เป็นเงินรวม 18,598,011 บาท แต่มีการอนุมัติให้โจทก์กู้ทั้งสองประเภทรวม 33,500,000 บาท ส่วนหลักประกันคือการจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 476 ในวงเงิน 23,500,000 บาท และนายรังสรรค์กับนายสุรพลทำสัญญาค้ำประกันเป็นการส่วนตัวในวงเงิน 23,500,000 บาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหลักประกันไม่ได้ครอบคลุมวงเงินทั้งหมดที่โจทก์ได้รับอนุมัติให้กู้ โดยวงเงินที่ยังขาดหลักประกันเป็นจำนวน 10,000,000 บาท ดังนั้นการที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมระบุในสัญญาให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมค้ำประกัน และได้ความต่อมาว่ามีการขอให้ค้ำประกันในวงเงิน 10,000,000 บาท จึงเป็นการลดภาระความเสี่ยงจากการที่หลักประกันไม่คุ้มจำนวนหนี้ อีกทั้งหากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่อนุมัติค้ำประกันย่อมเป็นผลทำให้หนี้ส่วนนี้ขาดหลักประกัน จึงมีการกำหนดให้เป็นสิทธิของผู้ให้กู้ฝ่ายเดียวในการพิจารณาเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินกู้ ซึ่งชอบด้วยเหตุผล จึงไม่ใช่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 (3) ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
สำหรับฎีกาของโจทก์ในข้อที่ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่นั้น แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อนี้โดยตรง แต่เนื่องจากโจทก์และจำเลยนำสืบข้อเท็จจริงกันมาเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยใหม่ โดยในข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า หลังจากบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมจ่ายเงินกู้ 4 งวด รวมเป็นเงิน 15,005,000 บาท จากนั้นไม่มีการเบิกจ่ายเงินกู้และเงินทุนหมุนเวียนให้แก่โจทก์โดยไม่แจ้งสาเหตุให้ทราบ ทำให้มีผลกระทบต่อการดำเนินโครงการของโจทก์ จนกระทั่งในปี 2547 พนักงานของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมจึงแจ้งโจทก์ว่าบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่ค้ำประกัน ทั้งที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมก็แจ้งให้บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมทราบตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม2546 แล้ว จึงเป็นความบกพร่องของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่รอผลการพิจารณาของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมโดยไม่ยอมจ่ายเงินกู้ให้ครบถ้วนตามสัญญาไปก่อนนั้น เห็นว่า การเบิกจ่ายเงินกู้ 30,500,000 บาท ตามสัญญากู้เงิน มีเพียงการจ่ายเงินกู้งวดแรก 13,500,000 บาท เป็นค่าซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการ ส่วนเงินกู้ที่เหลืออีก 17,000,000 บาท กำหนดให้เบิกจ่ายตามงวดงานดังที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ข้อ 2. ประกอบกับรายงานวิเคราะห์โครงการขอสินเชื่อ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามแบบขอเบิกเงินกู้งวดที่ 3 และที่ 4 ได้ความว่า โจทก์ขอเบิกเงินกู้งวดที่ 3 สำหรับงานก่อสร้างอาคารโรงแรมงวดที่ 1 และเบิกเงินกู้งวดที่ 4 สำหรับงานก่อสร้างคลับเฮ้าส์และสปอร์ตคลับรวมกันมาทีเดียว 5 งวด ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรให้เห็นว่าโจทก์ขอเบิกเงินกู้งวดถัดไปแล้วบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมปฏิเสธหรือไม่ หลังจากนั้นยังปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดชำระดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามสัญญา โดยชำระวันที่ 4 มีนาคม 2546 แล้วหยุดชำระ จากนั้นชำระครั้งสุดท้ายวันที่ 15 มีนาคม 2547 ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน นอกจากนี้ตามหนังสือแจ้งความประสงค์ มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่า โจทก์ทราบดีอยู่แล้วหลักประกันบางส่วนต้องเป็นกรณีที่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมมาค้ำประกันให้ โดยโจทก์ยอมรับว่าการถูกปฏิเสธจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นเหตุให้โจทก์เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและผิดนัดชำระหนี้แก่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือจำเลย ซึ่งไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย เพราะในฐานะสถาบันการเงินแม้จะเป็นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมก็ดีหรือเปลี่ยนเป็นธนาคารจำเลยก็ดี แม้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาส่งเสริม ช่วยเหลือและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมโดยการให้สินเชื่อ แต่ในขณะเดียวกันยังจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักประกันและความเสี่ยงหากมีการผิดนัดชำระหนี้ จึงไม่มีเหตุผลที่จะอนุมัติให้กู้เงินมากกว่าหลักประกันอันจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อองค์กรและกระทบต่อวัตถุประสงค์ที่ต้องช่วยเหลือสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายอื่นต่อไป เมื่อมีการก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ประกอบกับหลักประกันไม่ครอบคลุมวงเงินทั้งหมดที่อนุมัติให้กู้ไป จำเลยย่อมมีสิทธิเปลี่ยนแปลงวงเงินกู้หรือระงับเงินกู้ส่วนที่เหลือซึ่งไม่ได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม อันเป็นสิทธิที่จำเลยกระทำได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน ส่วนการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจของโจทก์นั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ต้องเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่เป็นกรณีที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือจำเลยผิดสัญญาไม่จ่ายเงินกู้ให้ครบถ้วนแต่อย่างใด เพราะโจทก์ทราบดีตั้งแต่ต้นว่า เมื่อโจทก์เสนอโครงการใช้เงินทุน 73,876,373 บาท ตามรายละเอียดธุรกิจ แต่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมไม่ได้พิจารณาให้ตามวงเงินดังกล่าว และแจ้งให้กู้ยืมเพียง 50,000,000 บาท ครั้นโจทก์ยื่นคำขอกู้เงิน 50,000,000 บาท บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมอนุมัติในหลักการให้สินเชื่อวงเงิน 33,500,000 บาท แต่มีการแบ่งจ่ายเป็นงวด ทั้งยังมีเงื่อนไขที่จะต้องได้รับการพิจารณาค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมบางส่วนเสียก่อนด้วย เมื่อการได้รับอนุมัติสินเชื่อต่ำกว่าเป้าหมายที่จะดำเนินการโครงการ ย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องเตรียมความพร้อมและสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจนอกเหนือจากนี้ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือจำเลยที่จะต้องจ่ายเงินกู้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนไปก่อนโดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ