คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5205/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลแขวงสงขลาไม่รับโอนคดีและส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นรับสำนวนคืนมาแล้ว ได้นัดพร้อมคู่ความและแจ้งคำสั่งของศาลแขวงสงขลาให้คู่ความทราบเพื่อให้คู่ความดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นกับศาลแขวงสงขลาต่างไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ แม้เนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลแขวงสงขลาที่ไม่ยอมรับโอนคดี แต่เมื่อศาลชั้นต้นรับสำนวนคืนจากศาลแขวงสงขลาไว้แล้ว ทั้งคดีจะต้องมีปัญหาวินิจฉัยว่า ระหว่างศาลชั้นต้นกับศาลแขวงสงขลาศาลใดจะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไปโจทก์ชอบที่จะมีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับแจ้งคำสั่งจากศาลชั้นต้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 อันเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลย คดีจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่คำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสงขลาที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว เลขที่ 789 ตำบลสำนักขาม (สะเดา) อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินนี้อีกต่อไป ให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ 77,400 บาท และหากจำเลยพร้อมบริวารไม่ยอมออกจากที่ดิน ให้จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ที่ดินที่จำเลยปลูกบ้านคือที่ดินแปลงเลขที่ 759 ไม่ใช่เลขที่ 789 ซึ่งไม่ใช่ของโจทก์ บิดาจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมาเป็นเวลา 10 ปีเศษ โดยไม่มีผู้ใดคดัค้าน และเมื่อต้นปี 2541 บิดาของจำเลยได้ยกที่ดินดังกล่าวให้จำเลย จำเลยจึงปลูกสร้างบ้านขึ้นใหม่ให้ผู้อื่นเช่า ขอให้ยกฟ้อง และมีคำสั่งแสดงว่าที่ดินพิพาทตามเอกสารท้ายคำให้การคือที่ดินตามโฉนดตราจองเลขที่ 759 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ห้ามโจทก์และบริวารเกี่ยวข้องและให้มีหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา สาขาอำเภอสะเดา แก้ชื่อทางทะเบียนเป็นชื่อของจำเลย
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีนี้เริ่มต้นเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามที่คู่ความรับกันว่าไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวง จึงให้โอนคดีนี้ไปให้ศาลแขวงสงขลาพิจารณาพิพากษาต่อไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
ศาลแขวงสงขลาเห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย เป็นการโอนคดีโดยผลของกฎหมาย แต่คดีนี้ขณะโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นแต่ต้น แม้ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การทำให้กลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท ศาลแขวงสงขลาก็ไม่มีอำนาจรับโอนคดี จึงส่งสำนวนคดีคืนศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไป
ศาลชั้นต้นรับสำนวนคืนมาแล้วแจ้งคำสั่งของศาลแขวงสงขลาให้คู่ความทราบเพื่อให้คู่ความดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดสงขลา) ชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงสงขลาพิจารณาพิพากษาได้หรือไม่ และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่าโจทก์มีสิทธิที่จะอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาประการหลังก่อนซึ่งปัญหานี้จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลแขวงสงขลาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2545 โจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลแขวงสงขลามีคำสั่งดังกล่าวอุทธรณ์ของโจทก์จึงเกินกำหนดเวลาตามกฎหมายและเมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลแขวงสงขลาที่ไม่รับโอนคดีไปจากศาลชั้นต้นแต่กลับมาอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นอุทธรณ์ของโจทก์จึงไม่เป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลแขวงสงขลาไม่รับโอนคดีและส่งสำนวนคืนศษลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นรับสำนวนคืนมาแล้ว ได้นัดพร้อมคู่ความเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 และแจ้งคำสั่งของศาลแขวงสงขลาให้คู่ความทราบเพื่อให้คู่ความดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ดังนี้ กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นกับศาลแขวงสงขลาต่างไม่รับพิจารณาพิพากษาคดีของโจทก์ แม้เนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์จะเป็นการโต้แย้งคำสั่งของศาลแขวงสงขลาที่ไม่ยอมรับโอนคดี แต่เมื่อศาลชั้นต้นรับสำนวนคืนจากศาลแขวงสงขลาไว้แล้ว ทั้งคดีจะต้องมีปัญหาวินิจฉัยว่า ระหว่างศาลชั้นต้นกับศาลแขวงสงขลาศาลใดจะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป โจทก์ชอบที่จะมีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำสั่งจากศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2545 อันเป็นการอุทธรณ์ภายในกำหนด 1 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 อุทธรณ์ของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนปัญหาว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงสงขลาพิจารณาพิพากษาหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทอันเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แต่เมื่อจำเลยให้การโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลย คดีจึงเปลี่ยนเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ มิใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้อีกต่อไป เมื่อราคาทรัพย์สินที่พิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสงขลาที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นชอบที่จะโอนคดีเรื่องนี้ไปให้ศาลแขวงสงขลาพิจารณาพิพากษาต่อไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำสั่งศาลแขวงสงขลา ให้ศาลแขวงสงขลารับโอนคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป

Share