คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า ม. ได้มาซึ่งค่าชดเชยเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดย ม. ปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของทรัพย์สินเรียกเอาคืนทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตามมาตรา 419
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือของกระทรวงการคลัง โดยข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนทราบเรื่องในเอกสารดังกล่าวเมื่อใดนั้น เป็นการไม่ชอบ กรณียังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนเมื่อใดอันเป็นการกำหนดตั้งต้นนับอายุความ ให้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนทราบเรื่องในเอกสารดังกล่าวเมื่อใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงิน 34,172.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 33,180 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยที่นายมานิตย์รับไปจากโจทก์เป็นเงินที่จ่ายโดยผิดกฎหมาย นายมานิตย์ได้เงินดังกล่าวโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบจึงเป็นลาภมิควรได้ โจทก์ทราบว่ามีสิทธิเรียกค่าชดเชยคืนตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 แต่ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2543 พ้นกำหนด 1 ปี นับแต่โจทก์รู้ว่ามีสิทธิเรียกคืน คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ฟ้องเรียกคืนค่าชดเชยจากจำเลยฐานลาภมิควรได้หรือในฐานะของทรัพย์สินติดตามเอาทรัพย์สินคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ไว้และฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับโอนนายมานิตย์ลูกจ้างประจำศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทย กรมการบินพาณิชย์ มาเป็นพนักงานของโจทก์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2536 จนเกษียณอายุเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2536 โจทก์จ่ายค่าชดเชยกรณีเกษียณอายุซึ่งคำนวณโดยนับอายุงานต่อเนื่องกับอายุงานของที่ทำงานเดิมจำนวนเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 180 วัน เป็นเงิน 33,180 บาท ให้แก่นายมานิตย์ไปเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2540 การคำนวณค่าชดเชยโดยนับอายุงานต่อเนื่องดังกล่าวขัดต่อพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันการบินพลเรือน พ.ศ.2535 มาตรา 38 ซึ่งให้ถือว่าการโอนลูกจ้างจากศูนย์ฝึกการบินพลเรือนในประเทศไทยเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือเลิกจ้างและให้ได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง พนักงานที่รับโอนมาได้รับสิทธิประโยชน์จากทางราชการครบถ้วนสมบูรณ์ไปแล้ว จะนับระยะเวลาการทำงานต่อเนื่องเพื่อสิทธิประโยชน์รับค่าชดเชยหรือเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานอีกไม่ได้ การที่นายมานิตย์ได้รับค่าชดเชยจำนวน 33,180 บาท จากโจทก์เป็นการรับเงินโดยไม่สุจริต โดยรู้อยู่ว่าไม่มีสิทธิจะได้รับ เป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และทำให้โจทก์เสียเปรียบ ดังนี้ ฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องว่านายมานิตย์ได้มาซึ่งค่าชดเชยเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยนายมานิตย์ปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางทำให้โจทก์เสียเปรียบ อันเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการฟ้องในฐานะเจ้าของทรัพย์สินเรียกเอาคืนทรัพย์สินจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตามมาตรา 1336 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตามมาตรา 419
ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ทราบว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้รับหนังสือของกระทรวงการคลัง โดยข้อเท็จจริงในสำนวนไม่ปรากฏว่าผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อใดนั้นเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงยังไม่อาจวินิจฉัยได้ว่าโจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินคืนเมื่อใดอันเป็นกำหนดตั้งต้นนับอายุความ
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้แทนนิติบุคคลของโจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนทราบเรื่องเมื่อใด แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share