แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้อง และหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ ดังนั้น แม้ว่าจำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์แต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดนั้นเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตลอดจนโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด ก็โดยสาเหตุที่จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น กรณีจึงมีความเกี่ยวพันกัน และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยคำฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 1 ก่อน
การที่โจทก์ฟ้องโดยตีราคาทรัพย์หลักประกันของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,806,000 บาท ตามสำเนาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินซึ่งในการประเมินราคาทรัพย์จำนองที่มีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำมาพิจารณาว่าเมื่อหักกับหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือ 2,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) หรือไม่นั้น โจทก์ต้องตีราคาทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การที่ทรัพย์จำนองเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น แต่โจทก์ประเมินมาเฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียว กรณีจึงถือว่าโจทก์ปกปิดทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างอันอยู่บนที่ดิน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ประเมินทรัพย์จำนองให้ครบถ้วน คำฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) และเมื่อกรณีไม่อาจพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากฟ้องโจทก์ไม่ชอบแล้ว กรณีจึงไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 ได้
โจทก์ตีราคาทรัพย์หลักประกันเฉพาะที่ดินโดยปกปิดไม่ได้ตีราคาสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ทรัพย์จำนองมาด้วย และจำเลยทั้งสามก็โต้แย้งว่าทรัพย์จำนองดังกล่าวนั้นมีราคาประเมินรวมประมาณ 13,000,000 บาท ประกอบกับคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลก็เพิ่งพิพากษาคดีแพ่งก่อนฟ้องคดีล้มละลายเป็นเวลาเพียง 8 เดือนเศษ โจทก์ยังสามารถที่จะนำคำพิพากษาคดีแพ่งไปบังคับแก่จำเลยที่ 2 ได้อยู่ และจำเลยที่ 2 ก็ยังประกอบธุรกิจต่างๆ มีรายได้ที่จะมาชำระหนี้แก่โจทก์ กรณียังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามไม่ยื่นคำให้การและไม่สืบพยาน
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ ธ.3027/2549 ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 2,000,000 บาท และ 9,593.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 6.5 ต่อปี และ 13 ต่อปี ตามลำดับ นับแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 และอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 2,009,593.57 บาท นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2547 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยนำเงินจำนวน 20,000 บาท มาหักชำระหนี้ที่มีอยู่ ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2546 และชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินจำนวน 3,919,921.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ของต้นเงิน 3,571,010.40 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 10461 ตำบลสีกัน อำเภอดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ คำนวณยอดหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 8,503,937.06 บาท
กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่า คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้ว่าจำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์แต่เพียงผู้เดียว แต่เมื่อหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดนั้นเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ตลอดจนโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดก็โดยสาเหตุที่จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น กรณีจึงมีความเกี่ยวพันกัน และเห็นควรวินิจฉัยคำฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยที่ 1 ก่อน
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้เป็นบุคคลล้มละลายโดยนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้อง และหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 10461 ตำบลสีกัน อำเภอดอนเมือง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ และโจทก์ได้ตีราคาทรัพย์หลักประกันเป็นเงิน 1,806,000 บาท ตามสำเนาบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินท้ายคำฟ้อง ทรัพย์ที่จำนองนั้นมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในการประเมินราคาเพื่อนำมาพิจารณาว่าเมื่อหักกับหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องแล้วจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท หรือ 2,000,000 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) หรือไม่นั้น โจทก์ต้องตีราคาทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การที่ทรัพย์จำนองเป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้นนั้น โจทก์ได้ประเมินมาเฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียว กรณีจึงถือว่าโจทก์ปกปิดทรัพย์หลักประกันซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างอันอยู่บนที่ดิน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ประเมินทรัพย์จำนองให้ครบถ้วน คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 10 (2) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องด้วย และเมื่อกรณีไม่อาจพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากฟ้องโจทก์ไม่ชอบแล้ว กรณีจึงไม่อาจมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 89 ได้
ในส่วนจำเลยที่ 2 นั้น เมื่อคดีได้ความว่าโจทก์ได้ตีราคาทรัพย์หลักประกันเฉพาะที่ดินโดยปกปิดไม่ได้ตีราคาสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ 4 ชั้น ทรัพย์จำนองมาด้วย และจำเลยทั้งสามก็โต้แย้งว่าทรัพย์จำนองดังกล่าวนั้นมีราคาประเมินรวมประมาณ 13,000,000 บาท ประกอบกับคดีแพ่งที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลก็เพิ่งพิพากษาคดีแพ่งก่อนฟ้องคดีล้มละลายเป็นเวลาเพียงแค่ 8 เดือนเศษ โจทก์ยังสามารถที่จะนำคำพิพากษาคดีแพ่งไปบังคับแก่จำเลยที่ 2 ได้อยู่ และจำเลยที่ 2 ก็ยังประกอบธุรกิจต่าง ๆ มีรายได้ที่จะมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ กรณียังมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ