คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว และได้มีการพิสูจน์ความผิดต่อศาลในคดีนั้นแล้ว ทั้งการริบทรัพย์สินเป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5) เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรงกรณีเพียงแต่กล่าวอ้างพาดพิงถึงว่าเงินสดของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการขายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อน จึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่ศาลจะริบทรัพย์สินนั้นได้เงินสดของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2)ที่ศาลจะพึงริบได้ในคดีนี้ ส่วนไฟแช็ก 1 อัน ของกลางเป็นอุปกรณ์ซึ่งมีไว้เพื่อให้ผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนใช้เสพโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จึงเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 และริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 13 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 ปี 6 เดือน และริบของกลางทั้งหมด

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงินสดจำนวน 8,000 บาทสมุดบันทึกการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 2 เล่ม และไฟแช็กแก่เจ้าของนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในชั้นนี้คงมีปัญหาเฉพาะข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์แต่เพียงว่า ศาลมีอำนาจสั่งริบเงินสดจำนวน 8,000 บาท และไฟแช็ก 1 อัน ของกลางหรือไม่ เห็นว่า ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 บัญญัติว่า “ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ (1)ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด” ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินสดจำนวน 8,000 บาท เป็นเงินที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อนถูกจับกุม และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยมีไฟแช็กของกลางซึ่งเป็นอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนไว้บริการลูกค้าที่ซื้อเมทแอมเฟตามีนแล้วต้องการเสพ และยังได้ความว่า เมื่อศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วจำเลยให้การว่า “จำเลยขอให้การรับสารภาพผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการ”ซึ่งมีความหมายว่า จำเลยรับสารภาพตามข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายฟ้องมาทั้งหมดข้อเท็จจริงจึงต้องฟังเป็นยุติไปตามนั้น ดังนั้น เงินสดจำนวน 8,000 บาท จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้มาโดยการกระทำความผิดในคดีนี้ เนื่องจากทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบจะต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงว่าจะต้องมีการฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว และได้มีการพิสูจน์ความผิดต่อศาลในคดีนั้นแล้วทั้งการริบทรัพย์สิน เป็นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18(5)เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนโดยตรง กรณีเพียงแต่กล่าวอ้างพาดพิงถึงว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในครั้งก่อนจึงยังไม่เป็นการเพียงพอที่ศาลจะริบทรัพย์สินนั้นได้ เงินสดจำนวน 8,000 บาทของกลางนั้น จึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(2) ที่ศาลจะพึงริบได้ในคดีนี้ สำหรับไฟแช็ก1 อัน ของกลางเป็นอุปกรณ์ซึ่งมีไว้เพื่อให้ผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนใช้เสพโดยฝ่าฝืนกฎหมายจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) ศาลมีอำนาจริบได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบไฟแช็ก 1 อัน ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share