คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่ศาลจะต้องออกข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดโดยสภาพมาตรา 30 หาได้บัญญัติให้ศาลจำต้องออกข้อกำหนดแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ศาลย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ทันที
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นพยายามควบคุมการพิจารณาเกี่ยวกับการใช้คำถามและให้อยู่ในระเบียบ แต่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงอาการไม่พอใจ และพูดว่าเป็นทนายจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิตจะไม่ถามความเฮงซวย โดยพูดซ้ำถึง3ครั้งต่อหน้าศาลคู่ความตำรวจและผู้ที่มาฟังการพิจารณา กิริยาและวาจาที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงออกมาดังกล่าวแล้วมีลักษณะ เป็นการท้าทาย ไม่เคารพยำเกรงศาล การที่ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการศึกษามาสูงพอสมควรและได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความชั้นหนึ่งเคยว่าความในศาลมามาก ย่อมจะรู้ว่าการแสดงกิริยาและวาจาดังกล่าว มีความหมายและความมุ่งหมายอย่างไรที่พจนานุกรมให้ความหมายของคำว่า ‘เฮง’ไว้ว่า’โชคดีหรือเคราะห์ดี’และคำว่า’เฮงซวย’ว่า’เอาแน่นอนอะไรไม่ได้’นั้นไม่อาจกลบเกลื่อนเจตนาอันแท้จริงของผู้ถูกกล่าวหาได้การกระทำของ ผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล

ย่อยาว

กรณีเกิดขึ้นระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์ ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นทนายจำเลยคนหนึ่งถามค้านพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นพยายามควบคุมการพิจารณาเกี่ยวกับการใช้คำถามอยู่ให้อยู่ในระเบียบ แต่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงอาการไม่พอใจและพูดว่าเป็นทนายจบนิติศาสตร์มหาบัณฑิต จะไม่ถามความเฮงซวย โดยพูดซ้ำถึง 3 ครั้งต่อหน้าศาล คู่ความตำรวจและผู้ที่มาฟังการพิจารณา แม้ศาลชั้นต้นเตือนผู้ถูกกล่าวหาขอโทษศาล ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาไว้แล้วมีคำสั่งว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความชั้นหนึ่งได้รับการศึกษาดี เป็นนิติศาสตร์มหาบัณฑิตได้แสดงกิริยาอาการในลักษณะโอ้อวดไม่ให้เกียรติคู่ความที่อยู่ในห้องพิจารณาและคนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เป็นการแสดงอาการหยิ่งยโส เยาะเย้ย และเหยียดหยามศาลผู้กระทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ไม่สมควรที่ผู้เกี่ยวข้องอยู่กับโรงศาลจะพึงกระทำ เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31, 33 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน
ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับผู้ถูกกล่าวหา 500 บาท
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำที่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) นั้น ได้แก่ การขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลและมาตรา 30 อันว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยประการหนึ่งกับการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลอีกประการหนึ่งเฉพาะการรักษาความเรียบร้อยในบริเวณศาลเท่านั้นที่ศาลจะต้องออกข้อกำหนดตามมาตรา 30 ส่วนการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งเป็นความผิดโดยสภาพ มาตรา 30 หาได้บัญญัติให้ศาลจำต้องออกข้อกำหนดแต่อย่างใดไม่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล ศาลย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลได้ทันทีโดยมิพักต้องเตือน แม้ศาลจะเตือนและผู้ถูกกล่าวหายอมขอให้ศาลทันที ก็เพียงแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหารู้สึกความผิดและและพยายามบรรเทาผลร้าย หาใช่การกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลยังไม่เกิดขึ้นไม่
การที่ผู้ถูกกล่าวหาแสดงกิริยาและวาจาดังกล่าวข้างต้นมีลักษณะเป็นการท้าทายไม่เคารพยำเกรงศาล ซึ่งทำการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียอำนาจศาล ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่าคำว่าเฮงซวยต้องถือตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า “เฮง”ว่า “โชคหรือเคราะห์ดี” และคำว่า “เฮงซวย” ว่า “เอาแน่นอนอะไรไม่ได้” คำว่า เฮงซวยจึงไม่ใช่คำที่ไม่สุภาพ ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการศึกษามาสูงพอสมควร ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความชั้นหนึ่ง เคยว่าความในศาลมามาก ย่อมจะรู้ว่าที่ตนแสดงกิริยาและวาจาออกมาต่อหน้าศาลมีความหมายและความมุ่งหมายอย่างไร ไม่อาจอ้างความหมายตามพจนานุกรมมากลบเกลื่อนเจตนาอันแท้จริงได้การกระทำของผู้ถูกกล่าวเป็นการประพฤติตัวไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล
พิพากษายืน

Share