แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยมีการขาดทุนสะสมมาโดยตลอด กระทั่งปี 2548 ปรากฏการขาดทุนสะสม 719,120,984 บาท โจทก์ทั้งสองมีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก จำเลยจึงต้องจ้างพนักงานขับรถบรรทุกเพิ่มอีกหนึ่งคนเป็นเหตุให้จำเลยมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นจึงได้ทำตารางเปรียบเทียบผลต่างเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปี ซึ่งแสดงถึงเงินเดือน รายได้ และสวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกอีกหนึ่งคน เปรียบเทียบกับการจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าหากจำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทเหมาภายนอกเพียงสองคน แทนการจ้างโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกที่ต้องขับช่วยโจทก์ทั้งสองอีกหนึ่งคน เมื่อนับจากขณะทำเอกสารไปจนถึงเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ 60 ปี จำเลยจะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้รวม 7,978,598 บาท อันเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องคำนึงถึงเพื่อลดส่วนของการขาดทุนสะสมลงเพื่อความอยู่รอดของจำเลยโดยมิได้กระทำไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ จึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอที่จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1 เรียกโจทก์สำนวนหลังว่าโจทก์ที่ 2 และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24,530 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 7,359 บาท ค่าชดเชย 133,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ทุกเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 2,568,960 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 19,415 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 5,830 บาท ค่าชดเชย 84,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ทุกเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และค่าเสียหายเป็นเงิน 1,272,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาจำเลยได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองแถลงไม่ติดใจดำเนินคดีในส่วนนี้ จึงเหลือประเด็นให้ศาลวินิจฉัยแต่เพียงว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 160,560 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 106,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยประการเดียวว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยประกอบกิจการเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมผลิตพลาสติกทุกชนิด โจทก์ทั้งสองทำงานเป็นลูกจ้างรายเดือนตำแหน่งพนักงานขับรถบรรทุก เอ็มพีเอ โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2537 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 13,388 บาท จำเลยที่ 2 เข้าทำงานวันที่ 1 มีนาคม 2540 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,636 บาท ในปี 2537 จำเลยมีลูกจ้าง 150 คน ต่อมาในปี 2541 จำเลยเลิกจ้างลูกจ้าง 25 คน และมีนโยบายไม่รับพนักงานใหม่ทดแทนพนักงานที่ลาออก กระทั่งปี 2548 จำเลยมีพนักงาน 111 คน และจำเลยได้เลิกจ้างลูกจ้างอีก 13 คน ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2549 จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างอีก 9 คน ซึ่งรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย และจำเลยได้รับพนักงานจากบริษัทผู้รับเหมางานภายนอกส่งพนักงานเข้ามาทำงานให้แก่บริษัทจำเลยรวม 24 คน โดยมีพนักงานเข้าทำงานเป็นพนักงานขับรถบรรทุกแทนโจทก์ทั้งสอง 2 คน เหตุที่จำเลยต้องทยอยเลิกจ้างลูกจ้างมาจนกระทั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองเพราะจำเลยประสบภาวะขาดทุนสะสมมาโดยตลอด โดยก่อนเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองนั้นจำเลยได้ทำการเปรียบเทียบแล้วว่า หากจำเลยให้บริษัทผู้รับเหมาภายนอกส่งพนักงานขับรถบรรทุกเข้ามาทำงานแทนโจทก์ทั้งสองจะทำให้จำเลยลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมาก เห็นว่า แม้จะปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองว่าจำเลยมีทุนจดทะเบียน 540,533,000 บาท แต่ตามสำเนางบกำไรขาดทุนและขาดทุนสะสม ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังมีการขาดทุนสะสมมาโดยตลอด กระทั่งปี 2548 ปรากฏการขาดทุนสะสมถึง 719,120,984 บาท และตามเอกสารก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีความเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาก กระทั่งจำเลยต้องจ้างพนักงานขับรถบรรทุกเพิ่มอีก 1 คน เป็นเหตุให้จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เพิ่มขึ้นจึงได้จัดทำตารางเปรียบเทียบผลต่างเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปี ซึ่งแสดงถึงเงินเดือน รายได้ สวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและพนักงานขับรถบรรทุกอีก 1 คน นับจากขณะทำเอกสารไปจนถึงเกษียณอายุการทำงานเมื่ออายุครบ 60 ปี เปรียบเทียบกับการจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอก ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่ามีผลเฉลี่ยต่อเดือนและต่อปีเป็นส่วนต่างจำนวนมาก ซึ่งแม้จะคำนวณจากเพียงส่วนของโจทก์ทั้งสองเปรียบเทียบกับของพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทผู้รับเหมาภายนอกก็ยังเห็นได้ว่า การที่จำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทรับเหมาภายนอกทำให้จำเลยสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึงเดือนละ 21,868 บาท หากคำนวณถึงวันกษียณอายุการทำงานจะลดค่าใช้จ่ายได้ รวม 2,225,378 บาท และหากพิจารณาที่โจทก์ทั้งสองจะต้องมีพนักงานขับรถบรรทุกช่วยเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งจะทำให้จำเลยต้องมีค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีกเมื่อคำนวณถึงวันเกษียณอายุการทำงานของพนักงานดังกล่าวเป็นเงิน 5,753,220 บาท การที่จำเลยจ้างพนักงานขับรถบรรทุกจากบริษัทผู้รับเหมาภายนอกเพียง 2 คน จะช่วยให้จำเลยลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้ถึง 7,978,598 บาท อันเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเลยจะต้องคำนึงถึงเพื่อลดส่วนของการขาดทุนสะสมลง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองกับลูกจ้างอื่นอีก 9 คน เพื่อความอยู่รอดของจำเลยจึงมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ และเมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าที่จำเลยกระทำไปเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์จำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง