แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ให้ส่งตัวจำเลยที่ 5 ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าที่จำเลยที่ 5 จะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 ให้มอบตัวจำเลยที่ 5 ให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระวังจำเลยที่ 5 ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาภายใน 1 ปี หากจำเลยที่ 5 ก่อเหตุร้าย บิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาท กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (2) (3) มิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 เกิน 2 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติกรรมของจำเลยที่ 5 เป็นความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 277 ริบของกลาง
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยที่ 1 อายุ 14 ปี จำเลยที่ 2 และที่ 5 อายุ 15 ปี แม้พฤติการณ์แห่งคดีจะร้ายแรงเป็นอันตรายต่อสตรีเพศ และกระทบกระเทือนต่อสังคม แต่จำเลยเป็นเยาวชนอยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนยังอ่อนความยั้งคิด ไม่เคยประพฤติเสียหายมาก่อน การลงโทษจำคุกจะไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคม หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ได้รับการฝึกและอบรมสักระยะหนึ่งแล้ว อาจทำให้นิสัยความประพฤติดีขึ้น และเพื่อให้จำเลยได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนหรือฝึกหัดอาชีพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยต่อไปในอนาคต อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) จึงให้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินกว่าที่จำเลยจะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ส่วนจำเลยที่ 3 ขณะกระทำผิดอายุ 18 ปี ยังเป็นวัยรุ่น กระทำผิดด้วยความคึกคะนอง เห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี ริบของกลาง ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 277 วรรคสาม (เดิม)) ประกอบมาตรา 86 ให้มอบตัวจำเลยที่ 5 ให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของจำเลยที่ 5 ไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของจำเลยที่ 5 ระวังจำเลยที่ 5 ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาภายใน 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้แก่จำเลยที่ 5 ฟัง หากจำเลยที่ 5 ก่อเหตุร้ายขึ้น ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองของจำเลยที่ 5 จะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาท กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยที่ 5 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ ปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (2) และ (3) ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เด็กหญิง ว. ผู้เสียหาย เกิดวันที่ 11 มิถุนายน 2532 ขณะเกิดเหตุอายุ 14 ปี ในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปที่เพิงไม้ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 5 กับชายวัยรุ่นอีกหลายคนขับรถจักรยานยนต์ตามไป ผู้เสียหายถูกชายวัยรุ่นดังกล่าว 3 คน ข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงโดยผู้เสียหายไม่ยินยอม สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษา คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ให้ส่งตัวจำเลยที่ 5 ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าที่จำเลยที่ 5 จะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 ให้มอบตัวจำเลยที่ 5 ให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระวังจำเลยที่ 5 ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาภายใน 1 ปี หากจำเลยที่ 5 ก่อเหตุร้าย บิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาท กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (2) (3) ดังนี้ มิใช่การลงโทษจึงถือมิได้ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 เกิน 2 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติกรรมของจำเลยที่ 5 เป็นความผิดฐานเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ผู้เสียหายเบิกความถึงจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับพฤติการณ์ในการร่วมกระทำความผิดแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ บ่งชี้ว่าการเห็นและการจดจำจำเลยที่ 2 ของผู้เสียหายไม่มีความแน่นอนรับฟังเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน บริเวณที่เกิดเหตุไม่มีแสงสว่าง ต้องอาศัยแสงสว่างของไฟหน้ารถจักรยานยนต์และดวงจันทร์ แต่ไม่ปรากฏว่าสามารถมองเห็นได้ในระยะใกล้ไกลเพียงใด ทั้งยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องแสงสว่างว่าบริเวณที่เกิดเหตุจะมีแสงสว่างไม่พอเพียงที่จะทำให้เห็นจำเลยที่ 2 ชัดเจนพอจำได้ นอกจากนี้แล้วไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดแก่ผู้เสียหายอีก และนายวรพลมิได้ยืนยันว่าพบเห็นจำเลยที่ 2 อยู่ในสถานที่เกิดเหตุด้วย จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดมา พยานหลักฐานโจทก์จึงมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น ผู้เสียหายเบิกความถึงการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ว่า ระหว่างนายเอข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอยู่นั้น จำเลยที่ 3 ซึ่งมากับจำเลยที่ 4 อย่างไรผู้เสียหายไม่ทราบ จำเลยที่ 3 ได้ใช้มือปิดปากผู้เสียหายไม่ให้ร้องเท่านั้น ซึ่งขัดกับผู้เสียหายเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ถามค้านว่า นายเอได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยนายโกวิทย์ใช้มือปิดปากผู้เสียหาย ส่วนนายบินจับแขนผู้เสียหาย ทั้งนายโกวิทย์และนายบินได้หมุนเวียนข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย นอกจากนายเอ นายโกวิทย์และนายบินข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว บุคคลอื่นไม่ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ทั้งคำเบิกความของผู้เสียหายที่ว่า จำเลยที่ 3 มาสถานที่เกิดเหตุในขณะที่นายเอข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอย่างไร ผู้เสียหายไม่ทราบนั้น แสดงว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้อยู่ในสถานที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ต้น แตกต่างจากที่พันตำรวจโทธีระพล พนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความว่า ผู้เสียหายแจ้งว่านายเอเป็นผู้อุ้มผู้เสียหาย นายนนท์ปิดปากผู้เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 3 ได้จับมือผู้เสียหายไว้ อันเป็นพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 อยู่ในสถานที่เกิดเหตุมาตั้งแต่ต้น ส่อให้เห็นพิรุธ พยานโจทก์นอกจากนี้ไม่ได้รู้เห็นจำเลยที่ 3 กระทำผิด เมื่อจำเลยที่ 3 นำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่มาโดยตลอด พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน