แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ส. สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้จำเลยที่ 1และคนงานไปส่งวัสดุก่อสร้างโดยใช้รถยนต์บรรทุกสิ่งของไปส่ง มี ร. เป็นคนขับ ในระหว่างที่มีการขนถ่ายสิ่งของจำเลยที่ 1 ได้ติดเครื่องยนต์ทำให้รถยนต์แล่นไปชนโจทก์แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถ และรถยนต์คันเกิดเหตุมี ร. เป็นคนขับประจำ แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 โดย ร. ไม่ได้ควบคุมดูแล ทำให้รถแล่นไปชนโจทก์ ต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและถือกรรมสิทธิ์รถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-3306 อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 นำสินค้าไปส่งให้แก่นายสุวรรณ บุญเหลา โดยใช้รถยนต์คันดังกล่าวเป็นพาหนะ ขณะที่จำเลยที่ 1 และผู้มีชื่อช่วยกันขนสินค้าลงจากรถยนต์ ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 ได้ขึ้นไปบนรถยนต์แล้วบิดกุญแจสวิตช์และเปิดสวิตช์ติดเครื่องยนต์ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวพุ่งชนโจทก์ นางพุฒ เชื้อชัย และเด็กหญิงเบญจมาศขันธมาลัย ซึ่งนั่งอยู่บริเวณหน้ารถยนต์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลใช้ความระมัดระวังแก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 หาได้ใช้ความระมัดระวังไม่ โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสต้องรักษาตัวคิดเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 90,000บาท ค่าทำให้เสียความสามารถในการประกอบการงานเพื่อเลี้ยงชีพเป็นเงิน 100,000 บาท ค่าทนทุกขเวทนาเป็นเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 240,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน81-3306 อุบลราชธานี และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จริง แต่จำเลยที่ 1 เป็นคนงานมีหน้าที่ขนของเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 เพราะมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง ไม่ได้ประกอบอาชีพค้าขายวัสดุก่อสร้าง แต่ถ้าศาลฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 เป็นเพียงคนงานมีหน้าที่ขนของ ไม่มีหน้าที่ขับรถยนต์คันดังกล่าว เพราะบุคคลที่มีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในวันเกิดเหตุได้แก่นายราวี วันหลัง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม นายบุญศรี หอมหวล ทายาทของโจทก์ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 125,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2541เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในชั้นอุทธรณ์ว่า รถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-3306 อุบลราชธานี เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2540 นายสุวรรณ บุญเหลา ได้สั่งซื้อวัสดุก่อสร้างจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 1 และคนงานไปส่งวัสดุก่อสร้างโดยใช้รถยนต์หมายเลขทะเบียน 81-3306 อุบลราชธานี เป็นพาหนะบรรทุกสิ่งของไปส่ง มีนายราวี วันหลัง เป็นคนขับ ในระหว่างที่มีการขนถ่ายสิ่งของ จำเลยที่ 1 ได้ติดเครื่องยนต์ทำให้รถยนต์คันดังกล่าวแล่นไปชนโจทก์ นางพุฒ เชื้อชัย และเด็กหญิงเบญจมาศ ขันธมาลัย ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาโจทก์ได้ถึงแก่ความตาย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อกฎหมายว่า การกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ขนวัสดุก่อสร้างไม่มีหน้าที่ขับรถและรถยนต์คันเกิดเหตุของจำเลยที่ 3 มีนายราวี วันหลัง เป็นคนขับประจำ แต่จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 การที่จำเลยที่ 1 ขึ้นไปติดเครื่องยนต์ในระหว่างทำการงานให้แก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นนายจ้าง โดยนายราวีก็ไม่ได้ควบคุมดูแล ทำให้รถแล่นไปชนโจทก์ นางพุฒและเด็กหญิงเบญจมาศได้รับอันตรายสาหัส และต่อมาโจทก์ถึงแก่ความตายนั้น เห็นได้ว่าขณะเกิดเหตุละเมิดความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างยังคงมีอยู่ กรณีจึงต้องถือว่าการละเมิดเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ลูกจ้างปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของลูกจ้าง มิใช่เป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน