คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 475/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินของโจทก์มีที่ดินของจำเลยและที่ดินของบุคคลอื่นปิดล้อมอยู่ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะร่วมกับจำเลยตั้งแต่ปี 2521 จนกระทั่งปี 2536 จำเลยก็ยินยอมให้เปลี่ยนไปใช้เส้นทางใหม่ตามที่โจทก์ขอ แต่พอถึงปี 2541 จำเลยนำท่อนเหล็กไปปิดกั้นทางดังกล่าวมิให้โจทก์เข้าออกสู่ทางสาธารณะแต่ก็ยังยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางเดิมอยู่ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม ได้กำหนดวิธีทำทางผ่านที่ต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้จะผ่าน และให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินจึงมีสิทธิเรียกให้โจทก์ย้ายทางใหม่กลับไปใช้เส้นทางเดิมได้ เพราะการที่จำเลยยอมให้โจทก์ทำทางใหม่ซึ่งเป็นทางพิพาทใช้เป็นทางสัญจรไปมานั้นเป็นอัธยาศัยที่จำเลยมีต่อโจทก์ มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายลดลงทั้งเป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลยเนื่องจากมีบุคคลภายนอกเข้ามาในที่ดินและอาจเป็นช่องทางให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ของจำเลยได้ ส่วนการที่โจทก์เสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทางใหม่ ถมดิน รื้อและปลูกสร้างเล้าหมูให้จำเลยใหม่ รวมทั้งขุดถอนกอไผ่นั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นค่าทดแทนที่โจทก์ผู้มีสิทธิจะผ่านใช้ให้แก่จำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6487 ตำบลเมืองเก่าอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี พร้อมบ้าน 1 หลัง ที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินจำเลยและที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ขอใช้ที่ดินจำเลยเป็นทางเข้าออกตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งเป็นทางกว้าง 4 เมตร ยาว 25 เมตร ต่อมาโจทก์ขอย้ายทางเข้าออกดังกล่าวไปใช้เส้นทางใหม่ในที่ดินของจำเลย ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีความกว้างและความยาวเท่าเดิม ซึ่งในการย้ายเส้นทางโจทก์ใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยด้วยการถมดินปลูกสร้างเล้าหมู และขุดถอนกอไผ่ รวมเป็นเงิน32,200 บาท ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2541 จำเลยนำท่อนเหล็กมาปิดกั้นทางเดินดังกล่าว โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์และบริวารใช้ทางดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากไม่สามารถนำรถยนต์เข้าออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็นด้านทิศเหนือมุมทางด้านทิศตะวันออกของที่ดินจำเลยกว้าง 4 เมตร ยาว 25 เมตร และให้จำเลยรื้อถอนเหล็กที่ปิดกั้นออกจากทาง และห้ามมิให้จำเลยปิดกั้นหรือขัดขวางมิให้โจทก์และบริวารใช้ทางดังกล่าวอีกต่อไป

จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้ปิดกั้นมิให้โจทก์ใช้ทางพิพาทจริง แต่จำเลยได้เปิดทางให้โจทก์ออกสู่ทางสาธารณะได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกร่วมกับจำเลยมาแต่เดิม แต่โจทก์เพิ่งมาเปลี่ยนใช้ทางพิพาทเมื่อปี 2536 เหตุที่จำเลยต้องปิดทางพิพาทนั้น เนื่องจากโจทก์ใช้ทางโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่จำเลย ปล่อยปละละเลยให้บุคคลภายนอกเข้ามากลับรถยนต์ในที่ดินของจำเลยทำให้ทรัพย์สินของจำเลยเสียหายและเป็นช่องทางให้คนร้ายเข้ามาลักทรัพย์ของจำเลยได้โดยง่าย ทำให้จำเลยไม่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินโจทก์มิได้ใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยเพื่อการใช้ทางแต่อย่างใด โจทก์ถมดิน ปลูกสร้างเล้าหมู และขุดถอนกอไผ่เพื่อประโยชน์ของโจทก์เอง โจทก์ต้องใช้ทางจำเป็นที่จำเลยเปิดให้อีกทางหนึ่งและต้องชดใช้ค่าทดแทนให้จำเลยปีละ 6,000 บาท ทุกปี ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ใช้ทางจำเป็นที่จำเลยเปิดให้อีกทางหนึ่งและใช้ค่าทดแทนปีละ 6,000 บาท ทุกปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์เลิกใช้ทางจำเป็นดังกล่าว

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยมีสิทธิเรียกให้โจทก์ย้ายทางพิพาทไปใช้เส้นทางที่จำเลยเปิดให้ตามแผนที่พิพาทหรือไม่ สำหรับปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยว่า ที่ดินของโจทก์มีที่ดินจำเลยและที่ดินของบุคคลอื่นปิดล้อมอยู่ ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ทางออกสู่ทางสาธารณะร่วมกับจำเลย ตั้งแต่ปี 2521 ตามเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.1 จนกระทั่งเดือนเมษายน 2536 จำเลยยินยอมให้โจทก์เปลี่ยนไปใช้ทางใหม่ ตามเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาทดังกล่าว ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2541จำเลยนำท่อนเหล็กปิดกั้นทางดังกล่าวมิให้โจทก์เข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้เส้นทางเดิมตามเส้นสีแดงในแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.1 นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์แห่งคดีจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิเรียกให้โจทก์ย้ายทางพิพาทไปใช้ทางเส้นทางเดิมตามแนวเส้นสีแดงได้ ทั้งนี้เพราะการที่จำเลยยอมให้โจทก์ทำทางพิพาทใช้เป็นทางสัญจรไปมาเป็นอัธยาศัยไมตรีที่จำเลยมีต่อโจทก์ทั้งป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่จำเลยและมิได้ทำให้โจทก์ได้รับความสะดวกสบายลดลง ส่วนกรณีโจทก์ฎีกาอ้างว่าเสียค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทาง ขุดกอไผ่ ถมดิน รื้อเล้าหมูของจำเลยและปลูกสร้างให้ใหม่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นค่าทดแทนที่โจทก์ผู้มีสิทธิจะผ่านใช้ค่าทดแทนให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสี่ ดังนั้น เมื่อจำเลยปิดกั้นทางพิพาทในเส้นสีเขียวที่ติดทางสาธารณะแล้วให้โจทก์ไปใช้ทางเข้าออกตามเส้นทางเดิมในเส้นสีแดงจึงมีสิทธิที่จะทำได้โดยชอบศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share