แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ในชั้นฎีกามีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) หรือไม่ แต่เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เสียแล้ว แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายดังกล่าวสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ระงับไปตามมาตรา 39(2) แล้วหากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้เสียหายไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ก็ต้องพิพากษายืนให้ยกฟ้อง ดังนี้ ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ไปในทางใดก็เป็นอันเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวมโทษจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้เสียหายมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายและไม่เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย ไม่อาจมอบอำนาจให้นางสาวสมจันทร์ เอี่ยมพรรัตน์ ร้องทุกข์ การสอบสวนจึงไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการสอบสวน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ผู้เสียหายมอบอำนาจให้นางสาวสมจันทร์ เอี่ยมพรรัตน์ ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) หรือไม่ แต่เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์เสียแล้ว แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าผู้เสียหายมีฐานะเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ก็ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แล้วหากศาลฎีกาวินิจฉัยว่าผู้เสียหายไม่มีฐานะเป็นผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ ก็ต้องพิพากษายืนให้ยกฟ้องดังนี้ ไม่ว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ไปในทางใดก็เป็นอันเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้กรณีจึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ต่อไป”
ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ