คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 26 ยกเลิกความในมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม กรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า ส่วนโทษปรับนั้น โทษปรับขั้นต่ำตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษปรับขั้นต่ำตามมาตรา 91 เดิม โทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับขั้นสูงตามมาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่ต่ำกว่าโทษปรับขั้นสูงตามมาตรา 91 เดิม โทษปรับขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า กรณีโทษปรับจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด เมื่อตามพฤติการณ์แห่งคดีโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดหรือใช้กฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดก็ได้ จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ , ๗ , ๘ , ๕๗ , ๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ , ๑๕๗ ทวิ และสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า ๖ เดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ , ๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลาบบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก และประกอบด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๑) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๘ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา ๗๘ คงจำคุก ๔ เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๖ ยกเลิกความในมาตรา ๙๑ แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งตามมาตรา ๙๑ ที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา ๙๑ ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ว่ากรณีโทษจำคุกตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญิตไว้ในมาตรา ๙๑ เดิม จึงต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า ส่วนโทษปรับนั้น โทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิม โทษปรับขั้นต่ำตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า แต่โทษปรับขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ต่ำกว่าโทษปรับขั้นสูงตามกฎหมายเดิม โทษปรับขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า ดังนั้น กรณีโทษปรับจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด พิเคราะห์ตามพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นว่า โทษปรับที่จะลงแก่จำเลยอยู่ในระดับที่ใช้กฎหมายในขณะกระทำความผิดหรือใช้กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดก็ได้ เช่นนี้ จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๗ , ๙๑ (เดิมและที่แก้ไขใหม่) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ทวิ วรรคหนึ่ง , ๑๕๗ ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๙๑ (เดิมและที่แก้ไขใหม่) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งเป็นเงิน ๕๐,๐๐๐ บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงปรับ ๒๕,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๓ ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ ๒ ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ ๓ ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ , ๓๐ (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓.

Share