คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1669/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวม โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามมาตรา 117 ถึงมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ส่วนที่มาตรา 124 บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในนามของตนเองได้และเป็นการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวม มาตรา 124 วรรคสอง ส่วนสุดท้ายก็บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา 125 โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่โจทก์ซื้อจากจำเลยได้ ไม่ต้องให้กองทุนรวมฟ้องเอง
การที่บริษัทจำเลยซึ่งเป็นผู้ขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิแก่โจทก์จะบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่เป็นเจ้าหนี้ในหุ้นกู้ด้อยสิทธิกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งเป็นเจ้าหนี้สามัญหรือไม่เพียงใด เป็นคนละเรื่องคนละตอนกันเมื่อจำเลยถูกระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชีตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวน ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 ห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ จำเลยกลับเพิกเฉย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว แม้จำเลยยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ยังไม่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สามัญก็ตาม
พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5ที่บัญญัติว่านับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทถูกระงับการดำเนินกิจการตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้นั้นเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าวแต่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการกองทุนรวม โจทก์ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 กองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนทวีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินเพิ่มทรัพย์ปันผล กองทุนเปิดไทยพาณิชย์เพิ่มพูนทรัพย์ปันผลและกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินทวีทรัพย์ปันผล เป็นกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนกองทุนรวมดังกล่าว จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ เมื่อปี 2536 จำเลยได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ให้เสนอขายหุ้นกู้ของจำเลยประเภทไม่มีหลักประกันจำนวน 1,000,000 หน่วย มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ1,000 บาท รวมมูลค่าของหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดอายุของหุ้นกู้เป็นเวลา 5 ปี 1 เดือน นับตั้งแต่วันออกหุ้นกู้ คือวันที่ 29 ธันวาคม 2536 จะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ในอัตราคงที่ร้อยละ 3.75 ต่อปี ตลอดอายุหุ้นกู้ มีกำหนดชำระดอกเบี้ยปีละ 2 ครั้ง คือในวันที่ 29 มกราคม และในวันที่ 29 กรกฎาคม ทุกปีครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้วันที่ 29 มกราคม 2542 เว้นแต่ในกรณีที่จำเลยได้ยอมรับเป็นลายลักษณ์อักษรว่าไม่มีความสามารถที่จะชำระหนี้เมื่อหนี้ถึงกำหนด เลิกกิจการ หรือไม่สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์หรือมีการชำระบัญชีเพื่อเลิกกิจการ มีสิทธิเรียกให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดได้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2537 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 จำนวน 15,000 หน่วย รวมจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 15,000,000 บาท เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538 วันที่ 8 กุมภาพันธ์2538 และวันที่ 27 มีนาคม 2538 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี จำนวน 56,920 หน่วย รวมจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 56,920,000บาท เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2538 วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 และวันที่ 23 พฤษภาคม2538 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนทวี จำนวน 25,000หน่วย รวมจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 25,000,000 บาท เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2539โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินเพิ่มทรัพย์ปันผล จำนวน10,000 หน่วยรวมจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 10,000,000 บาท เมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2539 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินพูนทรัพย์ปันผล จำนวน 5,000 หน่วยรวมจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 5,000,000 บาทและเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ของจำเลยในนามกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินทวีทรัพย์ปันผล จำนวน 14,000 หน่วย รวมจำนวนเงินตามมูลค่าที่ตราไว้ 14,000,000 บาท รวมมูลค่าที่ตราไว้ทั้งหมด 125,920,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่26 มิถุนายน 2540 จำเลยได้รับคำสั่งจากกระทรวงการคลังให้ระงับการดำเนินกิจการและให้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการให้แก่กระทรวงการคลังพิจารณา จำเลยได้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยงวดประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 ต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 จำเลยได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาชี้แจงฐานะของจำเลย ถือว่าจำเลยได้กระทำการอันมีลักษณะเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนครบกำหนดได้เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2540 โจทก์จึงมีสิทธิบอกกล่าวให้จำเลยดำเนินการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดก่อนครบกำหนด แต่จำเลยเพิกเฉย ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย อันเป็นผลให้จำเลยไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ จำเลยจึงอยู่ในฐานะต้องปิดกิจการเป็นการถาวร จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการไถ่ถอนหุ้นกู้ทั้งหมดคืนจากโจทก์ โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมไถ่ถอน จำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระต้นเงินจำนวน 125,920,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ค้างในอัตราร้อยละ3.75 ต่อปี สำหรับดอกเบี้ยงวดประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 คำนวณตั้งแต่วันที่ 29มกราคม 2540 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันถึงกำหนดชำระหนี้ตามที่ให้โจทก์แจ้งการไถ่ถอนเป็นเงิน 3,894,032.88 บาท และจำเลยมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 125,920,000 บาท นับแต่วันที่ 26พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันผิดจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,345,446.58 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 131,159,479.46 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 125,920,000บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,920,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 31ธันวาคม 2540 และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2541เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง มิให้เกิน 5,239,479.46 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,920,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3.75 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 30มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทจัดการกองทุนรวมและได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ให้จัดตั้งกองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวี 2 กองทุนรวมไทยพาณิชย์ทุนทวีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ธนทวี กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินเพิ่มทรัพย์ปันผล กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินพูนทรัพย์ปันผล และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สินทวีทรัพย์ปันผล ตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.7 จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการเงินทุนเพื่อการพาณิชย์ตามเอกสารหมาย จ.11 เมื่อเดือนธันวาคม2536 จำเลยได้ออกหุ้นกู้ชื่อ หุ้นกู้ จี เอฟ ชาร์ป วัน จำนวน 1,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท รวมมูลค่าหุ้นกู้ที่เสนอขายเป็นเงิน 1,000,000,000 บาท ในการออกหุ้นกู้ดังกล่าวต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการ ก.ล.ต. ตามเอกสารหมาย จ.12จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้นกู้ตามเอกสารหมาย จ.13 ออกหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิตามเอกสารหมาย จ.14 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิตามเอกสารหมาย จ.14 โจทก์ได้ซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิของจำเลยในนามกองทุนต่าง ๆ ทั้ง 6กองทุนรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 125,920,000 บาท ตามสำเนาใบหุ้นกู้เอกสารหมาย จ.15ถึง จ.20 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2540 กระทรวงการคลังมีคำสั่งให้จำเลยระงับการดำเนินกิจการชั่วคราวให้จำเลยส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อพิจารณาว่าจะให้จำเลยดำเนินกิจการต่อไปหรือไม่ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2540 จำเลยได้จัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ในรายงานการประชุมแสดงงานของจำเลยว่าจำเลยไม่สามารถชำระดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้ตามสำเนารายงานประชุมเอกสารหมาย จ.21 และต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม 2540 คณะกรรมการ ปรส. ไม่ให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลย จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ซึ่งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการ ปรส. รายงานรัฐมนตรีทราบ และให้คณะกรรมการ ปรส. มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคนมีอำนาจเข้าดำเนินการแทนบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการได้ทุกประการและทำการชำระบัญชีบริษัท

คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ หรือกองทุนรวมซึ่งมีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากไปจากโจทก์จะต้องเป็นผู้ฟ้องคดีเอง เห็นว่า เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนรวมในโครงการใดแล้ว โจทก์จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและวิธีการจัดการกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในเรื่องจัดการกองทุนรวมตั้งแต่มาตรา 117 ถึงมาตรา 132 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เช่น ตามมาตรา 122 ก่อนโจทก์จะเสนอขายหน่วยลงทุนต่อประชาชน โจทก์จะต้องจัดให้มีผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุนรวมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 121 แต่ผู้ดูแลผลประโยชน์ดังกล่าวมีหน้าที่เพียงเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนซึ่งเป็นประชาชนเท่านั้น มิได้มีอำนาจในการจัดการกองทุนแต่ประการใด ดังที่มาตรา 127(1) และ (5) ได้บัญญัติให้ผู้ดูแลผลประโยชน์ดูแลให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามมาตรา 125 โดยเคร่งครัด และดำเนินการฟ้องร้องบังคับคดีให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติตามหน้าที่ของตน หรือฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายจากบริษัทหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทั้งปวงหรือเมื่อได้รับคำสั่งจากสำนักงาน ก.ล.ต. มาตรา 124 วรรคสอง บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนตามโครงการจัดการทุนรวมตามที่ได้รับอนุมัติ โดยให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมทั้งมาตรา 125(1) และ (6)ยังได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ในการจัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ต้องดำเนินการจัดการให้เป็นไปตามโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติ ตลอดจนข้อผูกพันที่ทำไว้กับผู้ถือหน่วยลงทุนอย่างเคร่งครัด กับจัดให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ได้จากการนำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุนและนำผลประโยชน์ดังกล่าวฝากไว้กับผู้ดูแลผลประโยชน์ ส่วนที่มาตรา 124 บัญญัติให้กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคลนั้น ก็โดยมีวัตถุประสงค์ให้กองทุนรวมนั้นเป็นเจ้าของทรัพย์สินในนามของตนเองได้และเป็นการแยกทรัพย์สินของกองทุนรวมออกจากทรัพย์สินของบริษัทหลักทรัพย์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุน เพื่อรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนที่ร่วมลงทุนในกองทุนรวมมาตรา 124 วรรคสอง ส่วนสุดท้ายก็บัญญัติสอดคล้องกับมาตรา 125ดังกล่าวข้างต้นว่า ให้บริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า มีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์จะมีสิทธิฟ้องจำเลยต่อเมื่อเจ้าหนี้สามัญได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะหุ้นกู้ของโจทก์เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ การบังคับชำระหนี้ต้องเป็นไปตามหนังสือชี้ชวนเอกสารหมาย จ.14 บริษัทจำเลยยังอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ยังไม่มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สามัญ ข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เกิด และมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงินพ.ศ. 2540 และพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541เห็นว่า การบังคับให้เป็นไปตามสิทธิเรียกร้องกับการจะได้รับชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นหรือไม่เพียงใดเป็นคนละเรื่องคนละตอน เช่นสิทธิฟ้องร้องของเจ้าหนี้อาจจะเกิดขึ้นแล้ว แต่การจะบังคับเอากับทรัพย์สินใด หากทรัพย์สินนั้นตกอยู่ในบุริมสิทธิที่เจ้าหนี้อื่นจะได้รับชำระหนี้ก่อน เจ้าหนี้สามัญก็ย่อมจะได้รับชำระหนี้ในภายหลังเป็นขั้นตอนในชั้นบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า บริษัทจำเลยถูกกระทรวงการคลังมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินกิจการชั่วคราว และแผนฟื้นฟูกิจการของจำเลยมิได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) จำเลยจึงต้องเลิกกิจการและชำระบัญชี ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิที่จะให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ได้ตามเงื่อนไขในหนังสือชี้ชวนเอกสารหมาย จ.14 ข้อ 2.3.2 (ก) และ (ข)ทั้งตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 26 บัญญัติแต่เพียงห้ามมิให้บุคคลใดฟ้องบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการเป็นคดีล้มละลายในระหว่างดำเนินการตามแผนเพื่อแก้ไขฟื้นฟูที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการปรส. เท่านั้น เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.23 ให้จำเลยไถ่ถอนหุ้นกู้ตามสิทธิของโจทก์ จำเลยได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า โจทก์ยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มาตรา 5บัญญัติว่านับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับดอกเบี้ยหรือค่าป่วยการอื่นแทนดอกเบี้ยอันเกิดจากหนี้ที่บริษัทถูกระงับการดำเนินกิจการตามมาตรา 30 ได้ก่อขึ้น มิให้ถือว่าเป็นหนี้ที่จะขอรับชำระได้นั้น เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดำเนินการและชำระบัญชีที่คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) แต่งตั้งตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 โดยขอรับชำระหนี้ตามประกาศคณะกรรมการองค์การ ปรส. เรื่อง การขอรับชำระหนี้สำหรับเจ้าหนี้และการจัดสรรเงินจากการขายทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ เมื่อกรณีของโจทก์ ในคดีนี้ไม่ใช่กรณียื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อคณะกรรมการดังกล่าว แต่เป็นกรณีเจ้าหนี้ยื่นฟ้องต่อศาลและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก่อนวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงยังคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับต่อไปได้ ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share