แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา16 (3) บัญญัติให้คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. มีอำนาจหน้าที่กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งต่อมา ปรส. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (3) แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ออกประกาศลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายสินทรัพย์หลักของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน 56 ซึ่งสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม ซี ซี จำกัด (มหาชน) เป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทหนึ่งในจำนวน 56 บริษัทดังกล่าว และประกาศดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่าการจำหน่ายสินทรัพย์หลัก ให้กระทำโดยวิธีเปิดเผย หรือวิธีการอื่นตามที่ ปรส. กำหนด เมื่อพิจารณาประกาศดังกล่าวต่อไปมีข้อความระบุถึงผู้ประมูลและผู้ซื้อสินทรัพย์หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 3.2 ระบุว่า ผู้ประมูลและผู้ซื้อสินทรัพย์หลักต้องมีฐานะและสิทธิตามกฎหมายและมีศักยภาพทางการเงินเหมาะสมเพียงพอแก่การเข้าร่วมกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ โดยที่ ปรส. มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและผู้ซื้อ และในข้อ 4.1.5 (2) ระบุว่า หากผู้ชนะการประมูลต้องการโอนสิทธิที่จะทำสัญญาขายมาตรฐานให้ผู้อื่น ผู้ชนะการประมูลจะต้องให้การค้ำประกันที่ไม่อาจเพิกถอนได้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำสัญญาขายมาตรฐาน ความข้อนี้สอดคล้องกับสัญญาซื้อขายข้อ 13 (8) ที่ว่า ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องร่วมการประมูลและไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะการประมูล อีกทั้งผู้ซื้อเพียงแต่รับมอบสิทธิที่จะเข้าทำสัญญาซื้อขายเท่านั้น โจทก์จึงสามารถเข้าเป็นผู้ซื้อในสัญญาซื้อขาย ที่ทำกับ ปรส. ได้ โดยสัญญาซื้อขายดังกล่าวรวมถึงการขายสินเชื่อที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค้างชำระแก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมด้วย อีกทั้งในขณะทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวโจทก์จดทะเบียนมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 4,823,427.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินกู้จำนวน 3,051,738.05 บาท และของต้นเงินค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 7,978.99 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ 3,269,534.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 3,051,738.05 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 และร่วมกันชำระค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ทดรองจ่ายจำนวน 7,978.99 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 เมษายน 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้บังคับจำนองยึดห้องชุดเลขที่ 100/237 ชั้น 19 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดเดอะ วอเตอร์ฟอร์ด พาร์ค คอนโดมิเนียม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 8212, 8213, 8401, 14772 ตำบลคลองตัน (ที่ 11 พระโขนงฝั่งเหนือ) อำเภอคลองเตย (พระโขนง) กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์จำนวน 10,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการของกองทุนรวมแทนโจทก์ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม ซี ซี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหนึ่งในจำนวน 56 บริษัทเงินทุนและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลและชำระบัญชีขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (เรียกโดยย่อว่า ปรส.) ตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด มอบอำนาจให้บริษัทสำนักกฎหมายสหการ จำกัด โดยนายสมหมาย กรรมการผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2536 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม ซี ซี จำกัด (มหาชน) บริษัทเจ้าหนี้เดิม จำนวน 3,375,000 บาท โดยได้รับเงินกู้ไปครบถ้วนแล้ว จำเลยทั้งสองตกลงชำระดอกเบี้ยให้แก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมตามประกาศของบริษัทเจ้าหนี้เดิมในอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คิดจากลูกค้ากู้เบิกเงินเกินบัญชีบวกกับอัตราร้อยละ 1 รวมเป็นอัตราร้อยละ 12 ต่อปี และยอมให้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามประกาศของบริษัทเจ้าหนี้เดิม ในกรณีผิดนัดชำระหนี้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดตามประกาศของบริษัทเจ้าหนี้เดิมในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี กำหนดชำระหนี้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 27 ตุลาคม 2551 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน โดยจำเลยทั้งสองจำนองห้องชุดตามฟ้องเป็นประกัน ตามหนังสือสัญญาจำนองห้องชุดเป็นประกัน โดยตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยทั้งสองยอมรับผิดในส่วนที่ขาด จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมเพียงบางส่วน แล้วผิดนัดชำระหนี้แก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2541 โดยเป็นต้นเงิน 3,051,738.05 บาท และดอกเบี้ย 217,796.32 บาท เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2541 โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสินเชื่อของบริษัทเจ้าหนี้เดิมซึ่งรวมทั้งหนี้สินคดีนี้จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ตามสัญญาซื้อขาย หลังจากนั้นโจทก์ออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยในทรัพย์สินจำนองแทนจำเลยทั้งสองไปจำนวน 7,978.99 บาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์เป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ชนะการประมูลซื้อสินทรัพย์ของบริษัทเจ้าหนี้เดิม จึงไม่ใช่คู่สัญญากับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ในการทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ของบริษัทเจ้าหนี้เดิม และไม่ใช่ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เห็นว่าพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มาตรา 16 (3) บัญญัติให้คณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส. มีอำนาจหน้าที่กำหนดวิธีการชำระบัญชีและขายทรัพย์สินของบริษัทที่ถูกระงับการดำเนินกิจการ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 (3) แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ออกประกาศคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2541 เรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการขายสินทรัพย์หลักของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินงานได้จำนวน 56 บริษัท ซึ่งสินเชื่อของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ เอ็ม ซี ซี จำกัด (มหาชน) เป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทหนึ่งในจำนวน 56 บริษัทดังกล่าว และประกาศดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุว่าการจำหน่ายสินทรัพย์หลัก ให้กระทำโดยวิธีเปิดเผย หรือวิธีการอื่นตามที่องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) กำหนด เมื่อพิจารณาประกาศดังกล่าวต่อไปมีข้อความระบุถึงผู้ประมูลและผู้ซื้อสินทรัพย์หลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อ 3.2 ระบุว่า ผู้ประมูลและผู้ซื้อสินทรัพย์หลักต้องมีฐานะและสิทธิตามกฎหมายและมีศักยภาพทางการเงินเหมาะสมเพียงพอแก่การเข้าร่วมกระบวนการจำหน่ายสินทรัพย์ โดยที่ ปรส. มีสิทธิแต่ผู้เดียวในการวินิจฉัยคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลและผู้ซื้อ และในข้อ 4.1.5 (2) ระบุว่า หากผู้ชนะการประมูลต้องการโอนสิทธิที่จะทำสัญญาขายมาตรฐานให้ผู้อื่น ผู้ชนะการประมูลจะต้องให้การค้ำประกันที่ไม่อาจเพิกถอนได้ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการทำสัญญาขายมาตรฐาน ความข้อนี้สอดคล้องกับสัญญาซื้อขาย ข้อ 13 (8) ที่ว่า ผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องร่วมการประมูลและไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะการประมูล อีกทั้งผู้ซื้อเพียงแต่รับมอบสิทธิที่จะเข้าทำสัญญาซื้อขายเท่านั้น โจทก์จึงสามารถเข้าเป็นผู้ซื้อในสัญญาซื้อขาย ที่ทำกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ได้ โดยสัญญาซื้อขายดังกล่าวรวมถึงการขายสินเชื่อที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค้างชำระแก่บริษัทเจ้าหนี้เดิมด้วย อีกทั้งในขณะทำสัญญาซื้อขายดังกล่าวโจทก์จดทะเบียนมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว ดังนั้น โจทก์จึงเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องโดยชอบ
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ