คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1433/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ตามลักษณะของความผิดจะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น และโดยปกติฟ้องย่อมต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เพื่อจำเลยจะต่อสู้คดีได้ แต่กฎหมายก็มิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไปเช่นในกรณีที่ไม่อาจทราบตัวเจ้าของทรัพย์ที่แน่นอนได้ คำฟ้องเพียงแต่กล่าวไว้พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยชิงทรัพย์ โดยลักเอากระเป๋าสตางค์1 ใบ ราคา 50 บาท เงินสด 370 บาท …..ของหญิงไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ 35 ปี ผู้เสียหายไปโดยทุจริต…..เป็นการบรรยายฟ้องที่มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้วคงขาดแต่ชื่อเจ้าของทรัพย์เท่านั้นแต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจว่าทรัพย์ที่จำเลยลักเอาไปเป็นของผู้อื่น มิใช่เป็นทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีเจ้าของ ดังนี้ ถือได้ว่าฟ้องโจทก์ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์ของหญิงไม่ทราบชื่ออายุประมาณ 35 ปีผู้เสียหายไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุตัวผู้เสียหายไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) และพยานหลักฐานโจทก์ที่ปรากฏในชั้นพิจารณาไม่สามารถรับฟังลงโทษจำเลยตามฟ้องได้พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าฟ้องโจทก์สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) บัญญัติว่าฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามบทกฎหมายดังกล่าวนี้ในคดีความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ตามลักษณะของความผิดจะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งมิใช่เป็นของจำเลยผู้กระทำผิดนั้นเอง โดยปกติฟ้องย่อมต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เพื่อจำเลยจะต่อสู้คดีได้ แต่กฎหมายก็มิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เช่นในกรณีที่ไม่อาจทราบตัวเจ้าของทรัพย์ที่แน่นอนได้โดยเพียงแต่กล่าวไว้พอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีก็เป็นการเพียงพอแล้ว สำหรับคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ‘จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์โดยลักเอากระเป๋าสตางค์ 1 ใบราคา 50 บาทเงินสด 370 บาทและสร้อยคอทองคำหนัก2 สลึงราคา 2,300 บาทรวมราคาทรัพย์ 2,720 บาทของหญิงไม่ทราบชื่ออายุประมาณ 35 ปีผู้เสียหายไปโดยทุจริต….’ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้นแล้วคงขาดแต่ชื่อเจ้าของทรัพย์เท่านั้นแต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจว่าทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักเอาไปเป็นของผู้อื่นมิใช่เป็นทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์อันไม่มีเจ้าของ ฟ้องของโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้หาจำต้องระบุชื่อผู้เสียหายดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมฎีกาโจทก์ฟังขึ้น แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่เพื่อให้การวินิจฉัยข้อเท็จจริงเป็นไปตามลำดับศาล ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงตามที่โจทก์อุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.

Share