แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ถ้อยคำของผู้ตายที่ให้ไว้ต่อแพทย์และเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ทำการรักษาผู้ตาย โดยระบุชื่อ จำเลยว่าเป็นคนยิงผู้ตายนั้น เมื่อไม่ได้ความว่าผู้ตายระบุชื่อ จำเลยในขณะที่ผู้ตายรู้ตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่หรือไม่เช่นนี้จะรับฟังพยานนั้นมิได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 ฆ่านายคำเบ้าสำราญภักดีหรือสำราญตรีพักฒ์ โดยการจ้างและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289, 83, 84, 33 กับให้ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289, 33 วางโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต ริบของกลาง ให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีสำหรับจำเลยที่ 1ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิจารณาแล้ว คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นขณะที่ผู้ตายถูกคนร้ายยิง พยานโจทก์ที่รู้เห็นเหตุการณ์ในที่เกิดเหตุเป็นคนแรกคือนายเฉลิมวุฒิ ศิวาภรณ์ แต่เหตุการณ์ขณะเกิดเหตุก็ผ่านพ้นไปเสียแล้ว คำพยานปากนี้จึงไม่อาจชี้ได้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย โจทก์คงมีนายน้อย สำราญตรีพักฒ์ พี่ชายของผู้ตายและนางนาง เศษสุวรรณ์ ภริยาของผู้ตายซึ่งเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกมาบอกว่ามีคนว่าจ้างยิงผู้ตาย และมีนายแพทย์วิสันต์ เทียนรุ่งโรจน์ กับนางสาววีณา แซ่ตุ่น เบิกความว่าก่อนผู้ตายระบุชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้าย หลังเกิดเหตุแล้วจำเลยที่ 2 ใช้ให้นายศูนย์ มาพล บุตรเขยเอาเงินค่าจ้างฆ่าผู้ตายไปให้นางบุญ นอกจากพยานหลักฐานตามที่กล่าวข้างต้นแล้วโจทก์มีบันทึกการจับกุมผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.1 และคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.2 ที่แสดงว่าจำเลยที่ 1รับสารภาพมาแต่ต้น ปัญหามีว่าพยานหลักฐานต่าง ๆ เช่นว่านั้นจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า นายน้อย สำราญตรีพักฒ์เป็นพี่ชายของผู้ตายที่คนร้ายจะแจ้งข้อที่ตนจะฆ่าน้องชายให้พี่ชายทราบนั้นออกจะขัดด้วยเหตุผล และคำเบิกความของนายน้อยสำราญตรีพักฒ์ ก็แตกต่างกับคำเบิกความของนางนาง เศษสุวรรณ์เพราะนางนาง เศษสุวรรณ์ เบิกความว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 กับพวกมาแจ้งข่าวแก่นายน้อย สำราญตรีพักฒ์ นั้นตนอยู่ด้วย แต่นายน้อยสำราญตรีพักฒ์ ว่าขณะนั้นมีแต่ผู้ตาย นางนาง เศษสุวรรณ์ ไม่ได้อยู่ด้วย เมื่อคำพยานทั้งสองไม่ตรงกันจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเหตุการณ์นั้นได้มีขึ้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สำหรับคำเบิกความของนายแพทย์วิสันต์ เทียนรุ่งโรจน์ และนางสาววีณา แซ่ตุ่น นั้น คดีไม่ได้ความว่าผู้ตายระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในขณะที่ผู้ตายรู้ตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่ อันเป็นเกณฑ์สำคัญที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตายตามกระบวนความ ทั้งนี้ เพราะคนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้วกล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้ว และไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมไว้อีกต่อไป ส่วนจะถึงแก่ความตายเมื่อใดหาเป็นข้อสำคัญไม่ แม้ผู้ตายระบุชื่อคนร้ายในขณะที่หมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้ ต่อมาอีกสองหรือสามสัปดาห์จึงตาย คำบอกกล่าวนั้นก็ย่อมรับฟังได้ แต่ถ้าขาดเกณฑ์สำคัญดังกล่าวเสียแล้ว แม้จะสิ้นใจทันทีหรืออีก 10 นาทีต่อมาเช่นนี้คดีนี้ก็ทำให้ไม่น่าเชื่อถือส่วนคำเบิกความของนายศูนย์ มาพลนั้นออกจะไม่สู่มั่นคง เพราะครั้งแรกเบิกความว่าไม่ทราบเงิน3,000 บาทเป็นค่าอะไร ครั้งต่อมาจึงกลับว่าเป็นค่าจ้างฆ่าผู้ตายทั้งคำเบิกความพยานปากนี้เป็นพยานเดี่ยวไม่มีพยานอื่นมาพิเคราะห์เทียบเคียงให้เห็นเท็จและจริงได้ จำต้องฟังด้วยความระมัดระวังพยานหลักฐานโจทก์ในชั้นพิจารณาเป็นตามที่กล่าวข้างต้นจึงฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ไม่ได้ บันทึกการจับกุมผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.1 กับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหา เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเป็นเพียงพยานชั้นสองไม่สามารถนำมาประกอบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาที่ฟังไม่ได้อยู่แล้วนั้นเพื่อให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.