คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3526-3530/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน หมายถึงการจ้างซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ว่าจะจ้างกันกี่วัน กี่เดือนหรือกี่ปี เมื่อถึงกำหนดระยะเวลานั้นแล้วการจ้างเป็นอันระงับสิ้นสุดกันทันที และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดนั้นไม่
จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานในเรือเดินทะเลแผนกลูกเรือการลงเรือแต่ละครั้งได้ทำสัญญาจ้างกำหนดระยะเวลาจ้างเป็นคราว ๆ โดยปกติมีกำหนดคราวละ 6 เดือน แต่เวลาทำงานจริง ๆ ไม่เป็นไปตามที่สัญญากำหนดไว้อาจเกินหรือไม่ครบกำหนดนั้นแล้วแต่เส้นทางการเดินเรือ จำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้ตามวันที่ทำงานเมื่อหมดสัญญาครั้งหนึ่ง ๆ โจทก์จะได้ขึ้นจากเรือไปพักผ่อนระหว่างนั้นจำเลยจะจ่ายเงินลาพักให้แต่ไม่จ่ายค่าจ้างและโจทก์จะรอคำสั่งจากจำเลยว่าจะให้ลงเรือลำใดต่อไปเมื่อทำงานครบ 1 ปีโจทก์จะได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนด้วย ดังนี้แสดงว่ากำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นคราว ๆ ไม่มีผลบังคับกันอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ระหวางจำเลยกับโจทก์ยังคงมีอยู่ติดต่อกันตลอดมาหาได้สิ้นสุดลงเป็นคราว ๆ ตามสัญญาลงเรือที่ทำกันไม่ โจทก์จึงไม่ใช่ลูกจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอันจะเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ทั้งจำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ด้วย.

ย่อยาว

คดีทั้งห้าสำนวน ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน
โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอก กล่าวล่วงหน้า ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับถัดจาก วันเลิกจ้างเป็นต้นไป
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งห้าสำนวนไม่ใช่ลูกจ้างประจำของจำเลย แต่โจทก์รับจ้างเป็นลูกเรือของจำเลยโดยทำสัญญาจ้างมีข้อตกลงเกี่ยวกับระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนมีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอนและตามแต่ระยะเวลาของเส้นทางเดินเรือ ในช่วงที่เรือของจำเลยไม่มีกำหนดเดินทางจำเลยก็ไม่ได้จ้างโจทก์ นอกจากนี้สัญญาจ้างยังได้กำหนดวิธีการที่โจทก์และจำเลยจะบอกเลิกสัญญาต่อกันไว้ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชย และการเลิกจ้างเพราะครบกำหนดสัญญาจ้างจำเลยไม่ต้องรับผิดในเงินที่โจทก์เรียกร้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าสัญญาจ้างโจทก์ทุกคนเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่ามีปัญหาว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าสำนวนโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ เพราะตามสัญญาจ้างมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและจำเลยเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างนั้นแล้วหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าสัญญาจ้างซึ่งจะถือว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้นหมายถึงการจ้างซึ่งกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ว่าจะจ้างกันกี่วันกี่เดือน หรือกี่ปี เมื่อถึงกำหนดระยะเวลานั้นแล้วการจ้างเป็นอันระงับสิ้นสุดกันทันที และฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหามีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนกำหนดนั้นได้ไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๐๔/๒๕๒๘ แต่สัญญาจ้างทำงานเป็นลูกเรือในเรือเดินทะเลระหว่างจำเลยกับโจทก์ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าการที่โจทก์ลงเรือแต่ละครั้งได้ทำสัญญาตกลงกำหนดระยะเวลา จ้างเป็นคราว ๆ โดยปกติกำหนดไว้คราวละ ๖ เดือน แต่เวลาทำงานบนเรือไม่แน่นอน ไม่เป็นไปตามกำหนดที่ระบุไว้เป็นคราว ๆ ในสัญญา บางครั้งทำงานเกินกำหนดไปหลายเดือน แต่บางครั้งก็ทำงานไม่ครบกำหนดตามสัญญานั้น แต่การจ่ายค่าจ้างตามวันที่ทำงาน กำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นคราว ๆ ไม่มีผลบังคับกันอย่างแท้จริงประการหนึ่ง ทั้งตามข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับพฤติการณ์ที่คู่ความถือปฏิบัติต่อกันและศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วครั้งหนึ่ง ๆ ลูกเรือหรือโจทก์แต่ละสำนวนมีโอกาสขึ้นจากเรือไปพักผ่อนกับครอบครัว ต่อมาอีก ๓ วัน ลูกเรือจะไปที่บริษัทจำเลยเพื่อดูว่าทางบริษัทจำเลยจะจัดให้ลงเรือเที่ยวต่อไปที่เรือลำใดหรือไม่ เมื่อลูกเรือขึ้นจากเรือแล้ว บริษัทจำเลยจะจ่ายเงินลีฟเพย์ หรือเงินลาพัก ๓ หรือ ๕ วัน ต่อระยะเวลาที่ทำงาน แต่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้ ระหว่างลูกเรือขึ้นบกแล้วลูกเรือยังต้องรอฟังคำสั่งจากบริษัทจำเลยผู้เป็นนายจ้างว่าจะสั่งให้ลงเรือลำใดต่อไปเมื่อลูกเรือทำงานครบ ๑ ปีแล้ว ยังได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือนอีกประกอบกับบริษัทจำเลยได้เก็บเอกสาร เช่น หนังสือเดินทางของลูกเรือจนกว่าจะเลิกจ้างหรือลาออก นอกจากนี้บริษัทจำเลยได้ให้ลูกเรือจัดหาหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาประกันความเสียหายให้บริษัทจำเลยมีกำหนด ๑ ปี ซึ่งไม่ตรงกับกำหนดระยะเวลาในสัญญาลงเรือที่ทำไว้ และศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยว่าจากพฤติการณ์ดังกล่าวเป็นเหตุผลสนับสนุนว่าความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งห้าสำนวนยังคงมีอยู่ติดต่อกันไม่ขาดตอนจนกว่าจะเลิกสัญญากันอีกประการหนึ่ง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้สัญญาจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งห้าสำนวนกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้เป็นคราว ๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่ตามพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันตั้งแต่วันที่โจทก์เริ่มเข้าทำงานกับจำเลยจนถึงวันเลิกจ้างตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติแล้วว่ากำหนดระยะเวลาการจ้างเป็นคราว ๆ ไม่มีผลบังคับกันอย่างแท้จริง ความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งห้าสำนวนหาได้สิ้นสุดลงเป็นคราว ๆ ตามสัญญาลงเรือที่ทำกันไม่หากแต่ยังมีความสัมพันธ์ติดต่อกันตั้งแต่วันเริ่มเข้าทำงานจนถึงวันเลิกจ้างอันเป็นการจ้างที่ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอนเช่นนี้ กำหนดระยะเวลาการจ้างจึงไม่แน่นอน โจทก์ทั้งห้าสำนวนจึงมิใช่ลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนอันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าสำนวน ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๖ วรรคสามเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์มิได้กระทำความผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๔๗ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ ทั้งจำเลยจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ วรรคแรก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ส่วนที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์สำนวนที่ ๔ เป็นเงิน ๔๔,๒๘๕บาท ๘๕ สตางค์นั้น ปรากฏว่าตามสำนวนคดีนี้โจทก์ที่สี่ขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียง ๔๒,๗๑๑ บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอโดยไม่ปรากฏเหตุสมควรเพื่อความเป็นธรรม ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๒ สมควรแก้ไขเฉพาะสำนวนนี้เสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายวีระพล ประจันบาน โจทก์สำนวนที่สี่เป็นเงิน ๔๒,๗๑๑ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐ จนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share