คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1289/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 จะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่งและวรรคสอง แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 แล้วคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือในฐานะผู้เช่า ดังนี้ บัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ที่อ้างพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์และจำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลดังกล่าวเข้าเบิกความคือตัวจำเลยที่ 1 กับ ผ. ผู้รู้เห็นเหตุการณ์เช่าที่ดินพิพาทและเป็นผู้เก็บรักษาส่วนแบ่งข้าวที่ทำนาได้ จึงนับว่าเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำบุคคลดังกล่าวเข้าเบิกความจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 961 เลขที่ดิน 148 ตำบลโนนเพ็ด อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 40 ตารางวา เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ และพิพากษาว่าสัญญาจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นโมฆะ
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการสุดท้ายว่า ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายและให้จำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลเข้าสืบเป็นการชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานจนล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมาย หลังจากนั้นได้ยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมรวม 2 ครั้ง จึงเป็นการไม่ชอบ เพราะไม่มีการยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกก่อน การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบ ในปัญหาดังกล่าวข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2 ของจำเลยที่ 1 แล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 17 ตุลาคม 2545 ว่า คดีนี้นัดสืบพยานโจทก์วันที่ 24 มิถุนายน 2545 จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2545 โดยเข้าใจว่าเป็นการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 โจทก์รับสำเนาแล้วไม่คัดค้าน ศาลอนุญาตและรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 จึงถือว่าเป็นกรณีที่ศาลอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเมื่อพ้นระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้ดุลพินิจรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสามแล้ว จำเลยที่ 1 มีสิทธิยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม (หมายถึงการระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 2) ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม แม้โจทก์จะคัดค้าน แต่เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดคดีเป็นไปโดยเที่ยงธรรมจึงอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ เห็นว่า แม้การยื่นบัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 จะไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง แต่เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นก็มีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ 1 แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือในฐานะผู้เช่า ดังนี้ บัญชีระบุพยานของจำเลยที่ 1 ที่อ้างพยานบุคคลที่รู้เห็นเหตุการณ์ และจำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลดังกล่าวเข้าเบิกความคือตัวจำเลยที่ 1 กับนางผาง บัวนาค ผู้รู้เห็นการเช่าที่ดินพิพาทและเป็นผู้เก็บรักษาส่วนแบ่งข้าวที่ทำนาได้ จึงนับว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานจำเลยที่ 1 และอนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำพยานบุคคลดังกล่าวข้างต้นเข้าเบิกความจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share