แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยยักยอกเงินจัดสรรผลกำไรสุทธิที่ได้มาจากการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน กองทุนหมู่บ้าน ค. โดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านจึงเป็นผู้เสียหายในอันที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ โดยถือว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ของกองทุนหมู่บ้าน ค. ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสมาชิกและจำเลย การร้องทุกข์ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านจึงเป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นประธานกองทุนหมู่บ้านโคกเจริญเบิกเงินจัดสรรผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านประจำปี 2544, 2545 และ 2546 จำนวน 152,434 บาท ของกองทุนหมู่บ้านโคกเจริญผู้เสียหาย ไว้ในความครอบครองของจำเลย แล้วจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้สอยเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลบ้านโคก กิ่งอำเภอหนองนาคำ จังหวัดขอนแก่น ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยและสอบสวนแล้ว ระหว่างสอบสวนจำเลยไม่ถูกจับกุมหรือถูกควบคุมตัว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 152,434 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญไม่มีสภาพเป็นบุคคล ไม่อาจเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์นำคดีมาฟ้องเกิน 48 ชั่วโมง นับแต่วันที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและมีการแจ้งข้อหาอันถือว่าจำเลยถูกจับโดยไม่มีการผัดฟ้องและไม่ได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญไม่อาจเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์ได้ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ากองทุนหมู่บ้านโคกเจริญเป็นผู้เสียหายหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวว่า กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญเป็นผู้เสียหายหรือไม่ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกของกองทุนกู้เพื่อนำเงินไปลงทุน โดยดำเนินการในรูปของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านซึ่งสมาชิกของกองทุนหมู่บ้านเป็นผู้เลือกตั้ง ดังนั้น กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญจะเป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาหรือไม่ก็ตาม แต่เงินจัดสรรผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านประจำปี 2544, 2545 และ 2546 เป็นเงินที่ได้มาจากการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้าน การที่จำเลยยักยอกเงินจัดสรรผลกำไรสุทธิดังกล่าวไป กองทุนหมู่บ้านโคกเจริญโดยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้านจึงเป็นผู้เสียหายในอันที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยได้โดยถือว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ของกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ในความครอบครองของสมาชิกและจำเลย การร้องทุกข์ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านโคกเจริญจึงเป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนและมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยแล้ว ถือว่าเป็นการจับจำเลยหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น ให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับ โดยไม่ชักช้า และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวนประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิดหรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วจะหลบหนี (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิด และแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว… ดังนั้น การจับกุมบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 ดังกล่าว การที่จำเลยถูกเรียก หรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหาและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยเข้าพบพนักงานสอบสวน ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน