คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6795/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมีหนังสือมอบอำนาจของบริษัท จ. ผู้เสียหาย มาเป็นหลักฐานว่าผู้เสียหายมอบอำนาจทอดที่ 1 ให้ ค. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงในทอดที่ 2 ให้บริษัท พ. ดำเนินคดีแทน กับระบุให้บริษัท พ. มอบอำนาจช่วงในทอดที่ 3 ให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนได้ กับมีหนังสือมอบอำนาจของบริษัท พ. มาเป็นหลักฐานว่าบริษัท พ. ได้มอบอำนาจในทอดที่ 3 ให้ ณ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายได้ก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจในทอดที่ 2 จาก ค. ว่า ค. ได้มอบอำนาจให้บริษัท พ. หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดดำเนินคดีนี้แทนผู้เสียหาย แม้โจทก์จะมี ณ. มาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ตนได้รับมอบอำนาจจากบริษัท พ. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ค. ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานของผู้มอบอำนาจในทอดที่ 3 เท่านั้นไม่ใช่หลักฐานการมอบอำนาจในทอดที่ 2 จึงรับฟังไม่ได้ว่า ค. ได้มอบอำนาจในทอดที่ 2 ให้แก่บริษัท พ. ดำเนินคดีนี้แทน ดังนั้น ณ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัท พ. จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบ อันเป็นผลให้การฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบไปด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 27, 28, 69, 75, 76 สั่งริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองบุรีรัมย์จับกุมจำเลยได้พร้อมด้วยของกลาง โดยกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์ในงานเพลงยาใจคนจน อันเป็นงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียงโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีความผิดอาญาต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ซึ่งต้องมีการร้องทุกข์ตามระเบียบพนักงานสอบสวนจึงจะสอบสวนได้และต้องมีการสอบสวนในความผิดนี้ก่อน พนักงานอัยการโจทก์จึงจะฟ้องคดีได้ในการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีนี้ ได้ความจากร้อยตำรวจโทรณชัย พรมบุตร พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า นายณัฐวุฒิ สมองดี ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสียหาย โดยนายณัฐวุฒิซึ่งอ้างว่าเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายคณิต เหลืองศิริโรจน์ ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้นำสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เอกสารหมาย จ.6 หนังสือรับรองการจดทะเบียนของบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด เอกสารหมาย จ.7 สำเนาหนังสือมอบอำนาจของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เอกสารหมาย จ.8 ซึ่งมอบอำนาจให้นายคณิต มีอำนาจแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษมอบคดีต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ ฯลฯ และให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด หรือบุคคลอื่นมีอำนาจกระทำการดังกล่าวได้ โดยให้ผู้รับมอบอำนาจช่วงดังกล่าวสามารถมอบอำนาจช่วงต่อไปได้อีกช่วงหนึ่ง และหนังสือมอบอำนาจของบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด เอกสารหมาย จ.9 ซึ่งอ้างว่าทางบริษัทได้รับมอบอำนาจจากนายคณิต และได้มอบอำนาจช่วงให้แก่นายณัฐวุฒิ ให้มีอำนาจแจ้งความ ร้องทุกข์ กล่าวโทษดังกล่าว มามอบให้ตรวจสอบถึงการมีอำนาจร้องทุกข์คดีนี้ และร้อยตำรวจโท รณชัย ได้สอบปากคำของนายณัฐวุฒิไว้ ตามบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์เอกสารหมาย จ.10 ซึ่งได้ความว่านายณัฐวุฒิได้รับมอบอำนาจจากบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด ตามหนังสือมอบอำนาจและเอกสารประกอบดังกล่าว เห็นว่า แม้โจทก์จะมีหนังสือมอบอำนาจของบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ตามเอกสารหมาย จ.8 มาเป็นหลักฐานว่า ผู้เสียหายมอบอำนาจในทอดที่ 1 ให้นายคณิตเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน และให้นายคณิตมีอำนาจมอบอำนาจช่วง ในทอดที่ 2 ให้บริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด ดำเนินคดีแทน กับระบุให้บริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด มอบอำนาจช่วงในทอดที่ 3 ให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนได้ กับมีหนังสือมอบอำนาจของบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.9 มาเป็นหลักฐานว่าบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด ได้มอบอำนาจในทอดที่ 3 ให้แก่นายณัฐวุฒิไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายได้ก็ตามแต่โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจในทอดที่ 2 จากนายคณิตว่า นายคณิตได้มอบอำนาจให้แก่บริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดดำเนินคดีนี้แทนผู้เสียหาย แม้โจทก์จะมีนายณัฐวุฒิมาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ตนได้รับมอบอำนาจจากบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนายคณิตก็ตาม พยานหลักฐานดังกล่าวก็เป็นเพียงพยานหลักฐานของผู้มอบอำนาจในทอดที่ 3 เท่านั้น ไม่มีพยานหลักฐานของผู้มอบอำนาจในทอดที่ 2 พยานหลักฐาน โจทก์ที่นำสืบมาจึงยังรับฟังไม่ได้ว่า นายคณิตได้มอบอำนาจในทอดที่ 2 ให้แก่บริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด ดำเนินคดีนี้แทน นายณัฐวุฒิซึ่งได้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัทจี-พาเทนท์ จำกัด จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนผู้เสียหายการสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบ อันเป็นผลให้การฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบไปด้วยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share