คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4432/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 ที่ว่าทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้นั้น หมายถึงทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับมามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อบ้านและที่ดินเป็นสิทธิที่ผู้ร้องผู้เช่าซื้อและจำเลยที่ 1 ผู้ให้เช่าซื้อจะพึงได้รับทั้งสองฝ่ายหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้ร้องจะพึงได้รับไปแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้นไม่ เพราะในขณะที่ผู้ร้องในฐานะผู้เช่าซื้อจะได้รับโอนบ้านและที่ดินตามสัญญาเช่าซื้อ เมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาจำเลยในฐานะผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิจะได้รับเงินค่าเช่าซื้ออีกบางส่วนซึ่งขาดอยู่ตามสัญญานั้นเช่นกัน บ้านและที่ดินแปลงย่อยที่ผู้ร้องทั้งหมดขอปฏิบัติตามสัญญาอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งติดจำนองธนาคาร ท.เจ้าหนี้มีประกันที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จำนวนเงิน 166 ล้านบาทเศษ โดยขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 96(3) แม้จะนำสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินแปลงย่อยขายทอดตลาดเงินที่ได้ก็ไม่พอชำระหนี้ดังกล่าวเมื่อสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยจะได้รับค่าเช่าซื้ออีกบางส่วนจากผู้ร้องเห็นได้ชัดว่าเป็นเงินจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับความยุ่งยากหรือภาระที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาคือได้ไม่เท่าเสีย แทนที่กองทรัพย์สินของจำเลยจะเพิ่มพูนขึ้น แต่กลับทำให้ลดน้อยลงเพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องไม่ถอนที่ดินแปลงใหญ่เมื่อนำมาโอนให้ผู้ร้องกับพวกที่เช่าซื้อทั้งหมดเมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญา การที่เจ้าหนี้มีประกันขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวเป็นสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่มีหน้าที่ขายทรัพย์โดยปลอดจำนองเพื่อนำเงินไปชำระหนี้จำนองเท่านั้น และการที่ต้องขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันแสดงให้เห็นว่ากองทรัพย์สินของจำเลยไม่พอไถ่ถอนจำนองซึ่งเป็นจำนวนมากได้ ประกอบกับยังมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงินถึง 1,271 ล้านบาทเศษ เช่นนี้ จึงเป็นกรณีที่สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ อันทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 ข้ออ้างที่ว่าธนาคาร ท.ผู้รับจำนองได้รับชำระหนี้ไปแล้ว 30 ล้านบาท และจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นอีกมาก โดยคำนวณแล้วเมื่อนำออกขายทอดตลาดจะได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทนั้น ไม่เกี่ยวกับปัญหาที่ว่าสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้หรือไม่ซึ่งจะต้องพิจารณาเฉพาะสิทธิหรือประโยชน์และภาระตามสัญญาที่จะตกแก่กองทรัพย์สินของจำเลยเท่านั้น ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ธนาคารท.ผู้รับจำนองไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ เนื่องจากหนี้จำนองเกิดจากการฉ้อฉลระหว่างจำเลยกับพวกและธนาคารท.จึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันหรือไม่มีประกันนั้น ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นกล่าวอ้างไว้ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146 ไม่มีข้อความบัญญัติให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดาดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 158 ฉะนั้น ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรย่อมแล้วแต่จะเห็นสมควรเป็นราย ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอ สมควรมีคำสั่งโดยไม่จำต้องไต่สวนคำร้องหรือสืบพยานผู้ร้องเสียก่อน ก็อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะกระทำได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองกับพวกซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อบ้านและที่ดินแปลงย่อยในที่ดินแปลงใหญ่โฉนดที่ดินเลขที่ 1168 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีจากจำเลยที่ 1 โดยชำระค่าเช่าซื้อไปแล้วบางส่วน และจะต้องชำระค่าเช่าซื้ออีกบางส่วน ได้ยื่นคำร้องขอปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำร้องดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้
ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองยื่นคำร้องทำนองเดียวกันว่าคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่เป็นธรรม ทำให้ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองและครอบครัวเดือดร้อน ไม่มีที่อยู่อาศัยผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองเช่าซื้อบ้านและที่ดินด้วยความสุจริตจากจำเลยที่ 1 ก่อนจำเลยที่ 1 จะถูกดำเนินคดีในความผิดตามพระราชกำหนด การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองได้เข้าอยู่อาศัยมานานแล้ว และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หากมีการขายทอดตลาดบ้านและที่ดิน ผู้ร้องทั้งหมดจะไร้ที่อยู่อาศัยกว่า600 ครอบครัว รวม 3,000 คนเศษ การขอเฉลี่ยทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการขายทอดตลาดบ้านและที่ดินไว้ก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้ยกคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการขายทอดตลาดบ้านและที่ดินไว้ก่อนจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ให้ยกคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และรับคำร้องของผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองไว้พิจารณาต่อไป
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า บ้านและที่ดินแปลงย่อยตามคำร้องอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ โฉนดที่ดินเลขที่ 1168 ซึ่งติดจำนองธนาคารทหารไทย จำกัด เจ้าหนี้มีประกันได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 166,527,203.70 บาทโดยขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้ว ขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนที่ยังขาดอยู่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 96(3) แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะนำสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินแปลงย่อยออกขายทอดตลาดเงินที่ได้ก็ไม่พอชำระหนี้จำนองดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จำนวนมากถึง 3,958 ราย เป็นเงิน 1,271,317,509.34 บาท ดังนั้นสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่ขอปฏิบัติจึงมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานั้นได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งหมด
ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกาว่าสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อบ้านและที่ดินเป็นสิทธิที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองจะพึงได้รับไปแต่ฝ่ายเดียว หาใช่สิทธิที่จำเลยที่ 1 จะได้รับไปด้วยไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจอ้างว่าสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อหาได้ไม่ นั้น เห็นว่าสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวเป็นสิทธิที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสอง และจำเลยที่ 1 จะพึงได้รับทั้งสองฝ่ายหาใช่เป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองจะพึงได้รับไปแต่ฝ่ายเดียวเท่านั้นไม่ เพราะในขณะที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองในฐานะผู้เช่าซื้อจะได้รับโอนบ้านและที่ดินตามสัญญาเช่าซื้อเมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิจะได้รับเงินค่าเช่าซื้ออีกบางส่วนซึ่งขาดอยู่ตามสัญญานั้นเช่นกัน ความในพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 122 ที่ว่าทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ นั้นหมายถึงทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับมามีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้หรือไม่ ได้ความว่า บ้านและที่ดินแปลงย่อยที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองขอปฏิบัติตามสัญญาอยู่ในที่ดินแปลงใหญ่ โฉนดที่ดินเลขที่ 1168 ซึ่งติดจำนองธนาคารทหารไทย จำกัดเจ้าหนี้มีประกันที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้จำนวนเงิน166,527,203.70 บาท โดยขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันแล้วขอรับชำระหนี้สำหรับจำนวนเงินที่ยังขาดอยู่ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 96(3) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาเห็นว่า แม้จะนำสิ่งปลูกสร้างพร้อมที่ดินแปลงย่อยขายทอดตลาดเงินที่ได้ก็ไม่พอชำระหนี้ดังกล่าว เมื่อสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 จะได้รับค่าเช่าซื้ออีกบางส่วนจากผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองกับพวกทั้งหมดซึ่งผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกาว่า เฉลี่ยแล้วจะต้องชำระค่าเช่าซื้ออีกรายละ180,000 บาท เห็นได้ชัดว่าเป็นเงินจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับความยุ่งยากหรือภาระที่จะต้องปฎิบัติให้เป็นไปตามสัญญา คือได้ไม่เท่าเสีย กล่าวคือแทนที่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 จะเพิ่มพูนขึ้นแต่กลับทำให้ลดน้อยลง เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องไถ่ถอนที่ดินแปลงใหญ่ โฉนดที่ดินเลขที่ 1168 เพื่อนำมาโอนให้ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองกับพวกทั้งหมดเมื่อปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญา การที่เจ้าหนี้มีประกันขอให้ขายทอดตลาดทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าวนั้น เป็นสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่มีหน้าที่ขายทรัพย์อันเป็นหลักประกันดังกล่าว นั้นแสดงให้เห็นว่ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ไม่พอไถ่ถอนจำนองซึ่งเป็นจำนวนมากได้ ประกอบกับยังมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นจำนวนเงินถึง 1,271,317,509.34 บาทเช่นนี้จึงเป็นกรณีที่สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ อันทำให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานั้นได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 122 ที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกาว่า ธนาคารทหารไทยจำกัด ผู้รับจำนองได้รับชำระหนี้ไปแล้ว 30,000,000 บาท และจำเลยทั้งสองยังมีทรัพย์สินอื่นอีกมาก โดยคำนวณแล้วเมื่อนำออกขายทอดตลาดจะได้ไม่น้อยกว่า 1,000,000,000 บาท นั้น เห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอย ปราศจากหลักฐานและเป็นการคำนวณราคาทรัพย์โดยคาดหมายเอาเองไม่อาจรับฟังได้ ประกอบกับข้อที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกานี้ ไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้หรือไม่ซึ่งจะต้องพิจารณาเฉพาะสิทธิหรือประโยชน์และภาระตามสัญญาที่จะตกแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้เท่านั้น
ที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกาว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อไม่ได้ เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่กระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของจำเลยที่ 1 ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22(1) โดยรับเงินค่าเช่าซื้อบ้านและที่ดินหรือต่อสัญญาเดิมเป็นต้น นั้น เห็นว่า เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว นอกจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอำนาจทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมีอำนาจที่จะไม่ยอมรับทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญา หากทรัพย์สินของลูกหนี้หรือสิทธิตามสัญญานั้นมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 122 อีกด้วยฉะนั้นเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาเห็นว่า สิทธิตามสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็มีอำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานั้นได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
ที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกาว่า ธนาคารทหารไทย จำกัดผู้รับจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1168 ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ เนื่องจากหนี้จำนองเกิดจากการฉ้อฉลระหว่างจำเลยที่ 1 กับพวกและธนาคารทหารไทย จำกัด ธนาคารทหารไทย จำกัด จึงไม่ใช่เจ้าหนี้มีประกันหรือไม่มีประกันที่จะขอรับชำระหนี้ในคดีนี้นั้นเห็นว่า ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองมิได้ยกขึ้นเป็นประเด็นกล่าวอ้างไว้ในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ประกอบด้วยพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153
ที่ผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้ไต่สวนคำร้องหรือให้มีการสืบพยานผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองเสียก่อนที่จะมีคำสั่ง จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 146 บัญญัติว่า “ถ้าบุคคลล้มละลาย เจ้าหนี้หรือบุคคลใดได้รับความเสียหายโดยการกระทำหรือคำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลนั้นอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่ได้รับทราบการกระทำหรือคำวินิจฉัยนั้น ศาลมีอำนาจสั่งยื่นตาม กลับหรือแก้ไข หรือสั่งประการใดตามที่เห็นสมควร” จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความบัญญัติให้ศาลพิจารณาและมีคำสั่งชี้ขาดเหมือนอย่างคดีธรรมดาดังเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 158 ฉะนั้น ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรย่อมแล้วแต่จะเห็นสมควรเป็นราย ๆ ไป เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอสมควรมีคำสั่งโดยไม่จำต้องไต่สวนคำร้องหรือสืบพยานผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองเสียก่อนก็อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะกระทำได้ พิเคราะห์คำร้องของผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสอง คำคัดค้านของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และคำแถลงของทั้งสองฝ่ายในวันนัดพร้อมประกอบกับพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 153 บัญญัติว่ากระบวนพิจารณาคดีล้มละลายให้ดำเนินเป็นการด่วน ที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรมีคำสั่งโดยไม่ไต่สวนหรือสืบพยานผู้ร้องทั้งหนึ่งร้อยหกสิบสองเสียก่อนนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share