แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยมีข้ออ้างว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ได้ชำระแทนจำเลยตลอดระยะเวลาที่จำเลย ครอบครองอยู่จนถึงวันส่งคืนการครอบครองให้แก่โจทก์ตามสัญญา เช่าซื้อ ส่วนคดีก่อนข้ออ้างที่โจทก์กล่าวหาก็คือ เมื่อ ครบกำหนดสัญญาเช่าซื้อแล้ว จำเลยยังครอบครองรถยนต์ ที่เช่าซื้ออยู่ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ใช้ราคารถยนต์และ ค่าขาดประโยชน์ ข้อหาของโจทก์ทั้งสองคดีเป็นเรื่องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากสัญญาเช่าซื้อฉบับเดียวกันแม้ฟ้องของโจทก์ในคดีเรื่องก่อนจะขอให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายที่จำเลยครอบครองรถยนต์แล้วไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์หลังจากบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ส่วนคดีนี้เป็น เรื่องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไป แต่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก็เนื่องมาจากมูลฐานเดียวกัน คือความเสียหายอันเกิดแต่สัญญาเช่าซื้อนั่นเอง ค่าภาษีรถยนต์ ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นหนี้ที่มีอยู่ ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีเรื่องก่อนแล้ว โจทก์อาจฟ้องเรียก จากจำเลยได้ในคดีเรื่องก่อน แต่โจทก์ไม่ฟ้อง จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2530 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน น-5382 นครราชสีมาและหมายเลขทะเบียน 80-4029 นครราชสีมา ไปจากโจทก์ โดยมีข้อสัญญาว่าบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าภาษีต่าง ๆ ในการใช้รถยนต์ดังกล่าวค่าปรับก็ดี ผู้เช่าซื้อจะต้องออกเงินชำระแต่ผู้เดียวโจทก์เคยฟ้องจำเลยเรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวที่ศาลจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ทั้งสองคันคืนแก่โจทก์ ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาฎีกาที่ 202-203/2535 และโจทก์ได้รับรถยนต์ทั้งสองคันมา เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2535 โจทก์ได้ตรวจสอบการชำระภาษีจึงทราบว่า จำเลยมิได้ชำระค่าภาษีการใช้รถยนต์ทั้งสองคันให้แก่กรมการขนส่งทางบกตลอดระยะเวลาที่ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่จนถึงวันส่งคืนการครอบครองให้แก่โจทก์ อันเป็นการผิดสัญญาข้อ 6 โจทก์ต้องชำระค่าภาษีดังกล่าวรวมทั้งค่าปรับ เงินเพิ่มแก่กรมการขนส่งทางบกไปเพื่อที่โจทก์จะมีรถยนต์ทั้งสองคันไปใช้ประกอบธุรกิจขายหรือให้เช่าซื้อต่อไปรวมเป็นเงินค่าภาษีและค่าปรับ เงินเพิ่มรถยนต์ทั้งสองคันที่โจทก์ชำระไปทั้งสิ้นจำนวน 24,278.36 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 24,278.36 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ตามคำฟ้องโจทก์ปรากฏว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยในเรื่องผิดสัญญาเช่าซื้อ และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้ก็โดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อฉบับเดียวกันซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องในคดีก่อนได้อยู่แล้ว ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาตามฎีกาของจำเลยมีว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนครราชสีมา ตามคำพิพากษาฎีกาท้ายฟ้องเอกสารหมายเลข 5 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีเรื่องนี้โดยมีข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยต้องรับผิดชำระค่าภาษีรถยนต์ทั้งสองคันที่โจทก์ได้ชำระแทนจำเลยให้แก่กรมการขนส่งทางบกตลอดระยะเวลาที่จำเลยครอบครองใช้ประโยชน์อยู่จนถึงวันส่งคืนการครอบครองให้แก่โจทก์ ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องหมายเลข 3 ข้อ 6(ที่ถูกต้องคือสัญญาข้อ 3) ส่วนคดีเรื่องก่อนข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็คือ เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยยังครอบครองรถยนต์ทั้งสองคันที่เช่าซื้ออยู่ ทำให้โจทก์เสียหายขอให้ใช้ราคารถยนต์ทั้งสองคันและค่าขาดประโยชน์เห็นได้ว่าข้อหาของโจทก์ทั้งสองคดีเป็นเรื่องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องหมายเลข 3 ข้อ 3 ฉบับเดียวกันแม้ฟ้องของโจทก์ในคดีเรื่องก่อนจะขอให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายที่จำเลยครอบครองรถยนต์ทั้งสองคันแล้วไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์หลังจากบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าภาษีรถยนต์ที่โจทก์ชำระแทนจำเลยไป แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาวินิจฉัยก็เนื่องจากมูลฐานเดียวกัน คือความเสียหายอันเกิดแต่สัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องหมายเลข 3 นั่นเอง ค่าภาษีรถยนต์ทั้งสองคันที่จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อท้ายฟ้องหมายเลข 3 ข้อ 3 นั้น เป็นหนี้ที่มีอยู่ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีเรื่องก่อนแล้ว โจทก์อาจฟ้องเรียกจากจำเลยได้ในคดีเรื่องก่อน แต่โจทก์หาฟ้องไม่ กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148ที่ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อฟ้องร้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องโจทก์คดีเรื่องก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์