แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของ ส. บุตรสาวผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะมิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปในบ้าน ก็มิใช่เป็นการเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งมิใช่เป็นการเข้าไปเพื่อกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขตาม ป.อ. มาตรา 362, 364 จำเลยจึงไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยเข้าไปในบ้านอันเป็นอสังหาริมทรัพย์และเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายมนตรี นิยงค์ ผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (3) จำคุก 1 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเข้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานของผู้เสียหาย และได้ร่วมประเวณีกับนางสาวสาวิตรีบุตรสาวผู้เสียหายในห้องนอนของนางสาวสาวิตรี แล้วจำเลยออกจากบ้านผู้เสียหายกลับไปในวันรุ่งขึ้นแต่ก่อนรุ่งเช้า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหาย นางเสาวภาภริยาผู้เสียหาย นางสาวสาวิตรีบุตรสาวผู้เสียหายและพันตำรวจตรีเลอศักดิ์ บรรจง พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในคืนวันเกิดเหตุจำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้โต๊ะนักเรียนปีนหน้าต่างเข้าไปอยู่ในห้องนอนของนางสาวสาวิตรี แต่ได้ความจากพันตำรวจตรีเลอศักดิ์ตอบทนายความจำเลยถามค้านและบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเอกสาร จ.9 ว่า จากพื้นชั้นล่างถึงขอบหน้าต่างด้านล่างของห้องนอนนางสาวสาวิตรีห่างกันประมาณ 3.10 เมตร และได้ความจากนางสาวสาวิตรีตอบทนายความจำเลยถามค้านว่า โต๊ะนักเรียนสูงไม่ถึง 1 เมตร ดังนั้น จากบนโต๊ะนักเรียนถึงขอบหน้าต่างด้านล่างของห้องนอนนางสาวสาวิตรีจึงห่างกันเกินกว่า 2.10 เมตร ขึ้นไป ซึ่งเป็นระยะที่สูงมาก และเมื่อพิจารณาดูภาพถ่ายหมาย จ.3 ประกอบด้วยแล้ว โอกาสที่จำเลยจะใช้มือจับยึดขอบหน้าต่างด้านล่างของห้องนอนนางสาวสาวิตรีและปีนเข้าไปในห้องนอนนั้นจึงเป็นไปได้ยาก นอกจากนี้พยานทั้งสี่คนของโจทก์ไม่มีผู้ใดเห็นเหตุการณ์ขณะจำเลยใช้โต๊ะนักเรียนในการปีนหน้าต่างในคืนเกิดเหตุ ดังนี้ที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยเข้าไปในห้องนอนของนางสาวสาวิตรีโดยปีนทางหน้าต่างเข้าไปนั้นจึงไม่น่าเชื่อถือ นางสาวสาวิตรีก็เบิกความตอบโจทก์ว่า พยานรักใคร่ชอบพอจำเลยมรตั้งแต่ปี 2541 ในช่วงเดือนสิงหาคม 2542 นั้น พยานตั้งครรภ์กับจำเลยได้ 5 เดือน และยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้เสีย (หรือร่วมประเวณี) กับจำเลยก่อนวันเกิดเหตุ วันที่ 1 กันยายน 2542 แพทย์แจ้งว่าพยานตั้งครรภ์ได้เกือบ 6 เดือน เช่นนี้เห็นได้ว่า นางสาวสาวิตรีตั้งครรภ์ก่อนเกิดเหตุ ซึ่งหมายความว่าจำเลยและนางสาวสาวิตรีร่วมประเวณีกันมาก่อนเกิดเหตุแล้วนั่นเอง นางสาวสาวิตรียังเบิกความตอบทนายความจำเลยถามค้านอีกทำนองว่า ในคืนวันเกิดเหตุพยานได้ยินเสียงจำเลยครั้งแรกขณะที่เสียงเท้ากระทบฝาบ้าน พยานเข้าใจว่ามีคนกำลังจะปีนขึ้นมา แต่พยานก็ไม่ได้ร้องให้คนช่วยจึงผิดปกติวิสัยที่บุคคลซึ่งไม่เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและไม่สนิทสนมกันจะพึงกระทำ ทั้งได้ความจากพันตำรวจตรีเลอศักดิ์ตอบทนายความจำเลยถามค้านว่าในชั้นจับกุมและสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธว่า จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพราะนางสาวสาวิตรีเป็นผู้เชิญชวน เช่นนี้ ตามพฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบดังกล่าวประกอบกับนางสาวสาวิตรีรักใคร่ชอบพอจำเลยและเคยร่วมประเวณีกับจำเลยมาก่อนเกิดเหตุด้วยแล้ว ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อว่าในวันเกิดเหตุนางสาวสาวิตรีบุตรสาวผู้เสียหายเป็นผู้เชิญชวนและพาจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเอง จำเลยก็ให้การปฏิเสธตลอดมาว่า จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยนางสาวสาวิตรีเป็นผู้พาจำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยการเชิญชวนของนางสาวสาวิตรีบุตรสาวผู้เสียหายนั่นเอง แม้ผู้เสียหายจะมิได้อนุญาตให้จำเลยเข้าไปในบ้านก็ตาม แต่จำเลยก็ได้รับอนุญาตจากบุตรสาวผู้เสียหายให้เข้าไปในบ้านดังกล่าวแล้ว การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการเข้าไปในบ้านผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทั้งมิใช่เป็นการเข้าไปเพื่อกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.