แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกนั้น แม้จะฟังได้ว่าจำเลยเป็นบุตรของ ญ. ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตและได้รับความยินยอมจาก พ. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมในที่ดินพิพาทอีกคนหนึ่ง และเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าที่อนุญาตให้โจทก์เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้ ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันหรือขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทราบว่าโจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2553 แต่จำเลยไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ต่อมาปี 2555 จำเลยนำเสาเหล็กไปปิดกั้นที่ดินพิพาทและเอาโซ่เหล็กไปคล้องเพื่อปิดกั้นทางเข้าออก จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย การที่จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83
สำหรับความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์นั้น แม้ขณะเกิดเหตุจะฟังได้ว่า พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยความรู้เห็นของจำเลยก็ตาม แต่พวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด ดังนั้นการที่จำเลยไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรกจึงเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย คดียังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 309, 335, 337, 362, 365
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก, 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำคุก 1 ปี ฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป จำคุก 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป คงจำคุก 8 เดือน และฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป คงจำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 12 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ฐานลักทรัพย์โดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และฐานบุกรุกโดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปเสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดต่อเสรีภาพและความผิดฐานกรรโชก โจทก์ไม่อุทธรณ์ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า อาคารพาณิชย์ เลขที่ 396/12 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 189840 โดยที่ดินแปลงดังกล่าวมีผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม 4 คน คือ นายญาณเดช นายชูศักดิ์ นางจุฑามาศ และนายไพโรจน์ ส่วนโจทก์กับนายปรีชา และนายศักดิ์ชัย ได้ร่วมหุ้นกันประกอบกิจการร้านเฮอร์เมสสปา และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553 โจทก์และหุ้นส่วนได้มอบหมายให้นายปรีชาทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ เลขที่ 396/12 กับคณะบุคคลบ้านนนทรี โดยนางจุฑามาศ เป็นตัวแทนทำสัญญาของฝ่ายผู้ให้เช่า และในการนี้นายไพโรจน์ได้ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์และหุ้นส่วนใช้ประโยชน์จากที่ดินด้านข้างอาคารดังกล่าวเพื่อใช้จอดรถ ตั้งโต๊ะหรือวางของได้ตลอดอายุสัญญาเช่า ต่อมาวันที่ 7 มกราคม 2555 จำเลยซึ่งเป็นบิดาของนายญาณเดชและอ้างว่าได้รับมอบหมายให้ดูแลที่ดินส่วนของนายญาณเดช ได้ร่วมกับพวกนำเสาเหล็กไปปักลงบนที่ดินด้านข้างอาคารพาณิชย์ เลขที่ 396/12 จากนั้นวันที่ 14 มกราคม 2555 เวลากลางวัน จำเลยกับพวกนำโซ่เหล็กไปคล้องกับเสาเหล็ก แล้วปลดโซ่เหล็กออกในเวลากลางคืน ต่อมาวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยนำโซ่เหล็กไปคล้องกับเสาเหล็กแล้วปลดออกอีก และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555 เวลากลางวัน มีผู้นำเอาเก้าอี้พลาสติกของโจทก์ออกไปจากบริเวณหลังร้านของโจทก์แล้วไปตั้งในบริเวณใกล้บ้านเรือนไทยของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานบุกรุกหรือไม่ เห็นว่า อาคารพาณิชย์เลขที่ 396/12 และที่ดินข้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวต่างตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 189840 ซึ่งมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์จำนวน 4 คน ได้แก่นายญาณเดช นายชูศักดิ์ นางจุฑามาศ และนายไพโรจน์ แม้จำเลยจะเบิกความต่อสู้ว่า ที่ดินแปลงนี้มีการแบ่งการครอบครองเป็น 3 ส่วน โดยที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารพาณิชย์เลขที่ 396/12 ซึ่งโจทก์เช่าเป็นร้านเฮอร์เมสสปาเป็นที่ดินของนายชูศักดิ์และนางจุฑามาศ ส่วนที่ดินพิพาทที่อยู่ข้างอาคารพาณิชย์ดังกล่าวเป็นที่ดินของนายญาณเดชบุตรของจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องการแบ่งการครอบครองที่ดินนี้ นอกจากจะไม่มีปรากฏอยู่ในสำเนาโฉนดที่ดินแล้ว ยังเป็นเรื่องที่รู้กันภายในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม จำนวน 4 คนเท่านั้น โดยโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เช่าอาคารพาณิชย์และได้รับอนุญาตจากนายไพโรจน์ให้ใช้สอยที่ดินพิพาทข้างอาคารพาณิชย์ย่อมไม่อาจรับรู้ได้ อีกทั้งเมื่อพิจารณาสำเนาสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์ก็ดี และสำเนาหนังสือยินยอมก็ดี ล้วนแต่เป็นเอกสารที่ทำให้โจทก์เชื่อได้ว่า คณะบุคคลผู้ให้เช่าและนายไพโรจน์มีอำนาจเหนืออาคารพาณิชย์และที่ดินพิพาทข้างอาคารพาณิชย์โดยถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตได้รับความยินยอมเห็นชอบจากนายไพโรจน์ผู้เป็นเจ้าของรวมและเป็นหนึ่งในคณะบุคคลผู้ให้เช่าให้เข้าใช้สอยทำประโยชน์จากที่ดินพิพาทข้างอาคารพาณิชย์ได้ ย่อมถือว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทและมีอำนาจที่จะป้องกันขัดขวางผู้เข้ารบกวนการครอบครองของโจทก์ได้ ที่จำเลยเบิกความต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทข้างอาคารพาณิชย์เป็นที่ดินในส่วนของนายญาณเดชและนายญาณเดชได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ดูแลที่ดินในส่วนนี้นั้น เห็นว่า นอกจากนายญาณเดชซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่189840 โดยตรงจะไม่ได้
มาเบิกความเป็นพยานสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีพยานบุคคลและพยานเอกสารมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้มีอำนาจในการดูแลรักษาที่ดินในส่วนของนายณาณเดชจริง ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงเลื่อนลอย ขาดความน่าเชื่อถือ ทั้งหากจำเลยเห็นว่านายไพโรจน์ทำหนังสือยินยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทข้างอาคารพาณิชย์โดยไม่ถูกต้องและปราศจากอำนาจ จำเลยก็ควรไปว่ากล่าวเอาความดำเนินคดีแก่นายไพโรจน์ให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่จำเลยก็มิได้กระทำเช่นนั้น ประกอบกับโจทก์เช่าอาคารพาณิชย์และดำเนินกิจการร้านเฮอร์เมสสปาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งจำเลยย่อมเห็นได้ว่า โจทก์เข้าใช้สอยที่ดินพิพาทข้างอาคารพาณิชย์มาตั้งแต่เริ่มแรก แต่จำเลยก็ไม่ดำเนินการทางกฎหมายแก่โจทก์ในประการใด ดังนี้ การที่จำเลยเพิ่งเอาเสาเหล็กไปปักบริเวณพื้นที่ร้านของโจทก์และเอาโซ่เหล็กไปคล้องเสาเหล็กเพื่อปิดกั้นทางเข้าออกจากร้านของโจทก์เมื่อปี 2555 จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่า จำเลยมีเจตนาที่จะรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เมื่อจำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อนำสืบของโจทก์จะรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ พวกของจำเลยเป็นผู้ยกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปจากหลังร้านของโจทก์โดยความรู้เห็นของจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาสำเนาภาพถ่ายแล้ว จะเห็นได้ว่าพวกของจำเลยนำเก้าอี้ไปตั้งวางไว้ที่บริเวณหลังร้านของโจทก์ในระยะห่างจากจุดเดิมเพียงไม่กี่เมตร โดยจำเลยต่อสู้ว่านำเก้าอี้ไปใช้นั่งพูดคุยกันซึ่งก็มีเหตุผลควรแก่การรับฟัง ทั้งหลังจากนั้นข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยสั่งการให้ขนเคลื่อนย้ายเก้าอี้ไปไว้ในบ้านจำเลยหรือนำเก้าอี้ไปทำประโยชน์อื่นใด แม้จำเลยจะไม่ยอมคืนเก้าอี้ให้แก่โจทก์ในตอนแรก แต่การกระทำของจำเลยก็มีลักษณะเป็นเพียงพฤติการณ์ที่เกะกะระรานสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่โจทก์มากกว่าจะเป็นการเอาเก้าอี้ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับจำเลยหรือพวกของจำเลย เมื่อคดีโจทก์ยังมีเหตุอันควรสงสัยรับฟังไม่ได้แน่ชัดว่า จำเลยกับพวกเอาเก้าอี้ของโจทก์ไปโดยทุจริตหรือไม่ กรณีจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โดยไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานบุกรุกและฐานลักทรัพย์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362, 83 เพียงกระทงเดียว ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ปรับ 2,000 บาท เนื่องจากไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดมาก่อน และพฤติการณ์แห่งคดีไม่ร้ายแรงนัก กรณีเห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีด้วยการรอการลงโทษให้สักครั้ง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์