คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9093/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นพนักงานแผนกห้องอาหารของบริษัท ก. ซึ่งประกอบกิจการโรงแรม มีหน้าที่นำใบเสร็จรับเงินไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่สั่งอาหารและเครื่องดื่มแล้วนำเงินค่าอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวส่งให้โรงแรม การที่จำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ใช้เรียกเก็บเงินไปแล้วมาลงวันที่และเขียนรายการใหม่ แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้ารายใหม่ ก็เพื่อไม่ต้องนำเงินจำนวนที่จำเลยเรียกเก็บใหม่ดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทางโรงแรมเพราะไม่มีหลักฐานการรับเงินที่แท้จริงและเก็บเงินจำนวนนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลยคือโรงแรมที่ต้องเสียค่าแรงงานและค่าอาหาร เมื่อลูกค้าไม่ยอมชำระเงินค่าอาหาร บริษัท ก. จึงเป็นผู้เสียหายจากการกระทำผิดฐานพยายามฉ้อโกง
สำหรับคำขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6378/2555 ของศาลชั้นต้นนั้น เมื่อคดีนี้ศาลเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน ทั้งคดีอาญาของศาลชั้นต้นที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83, 352 นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6378/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 83 จำคุก 1 เดือน 10 วัน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 20 วัน ให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 6416/2555 ของศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 80, 83 ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 80, 83 ให้ยก โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า บริษัทแกรนด์ซิทตี้ แมนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยมีตำแหน่งเป็นพนักงานแผนกห้องอาหารของบริษัทดังกล่าวซึ่งประกอบกิจการโรงแรม มีหน้าที่นำใบเสร็จรับเงินไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าแล้วนำส่งให้โรงแรม เห็นว่า การที่จำเลยนำใบเสร็จรับเงินที่ใช้เรียกเก็บเงินไปแล้ว มาลงวันที่แล้วเขียนรายการใหม่ แล้วนำไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้าชาวเกาหลี จำนวน 211.86 บาท ก็เพื่อไม่ต้องนำเงินจำนวนดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทางโรงแรม เพราะไม่มีหลักฐานการรับเงิน และเก็บเงินจำนวนนั้นไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของจำเลยคือทางโรงแรมที่ต้องเสียค่าแรงงานและค่าอาหาร สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่าลูกค้าได้รับประทานอาหารไปแล้วแต่ไม่ยอมชำระเงินค่าอาหาร บริษัทแกรนด์ซิทตี้ แมนชั่น อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ภายในอายุความ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและส่งสำนวนให้อัยการฟ้องเป็นคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า สมควรรอการลงโทษจำคุกหรือลงโทษจำเลยสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยเคยกระทำความผิดทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว และศาลพิพากษารอการลงโทษจำคุกมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงค่าอาหารประมาณ 211 บาท เป็นราคาไม่มากนัก ทั้งจำเลยยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไว้ การกระทำความผิดครั้งนี้น่าจะมีผลกระทบต่อการทำงานของจำเลยในอนาคต ทั้งน่าเชื่อว่าจำเลยมีบุตรอายุเพียง 3 เดือน มีภาระอื่นทางครอบครัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการจำคุกในระยะเวลาอันสั้น แต่ให้จำเลยหลาบจำ จึงให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก และเมื่อเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนแล้ว ทั้งคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6378/2555 ของศาลชั้นต้น ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงนับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวไม่ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุก 20 วัน เป็นกักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 คำขออื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share