แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยพลัดตกช่องลิฟต์ได้รับบาดเจ็บกระดูกกะโหลกศีรษะหลังหูขวาแตกมีเลือดออกในสมองแต่เลือดในสมองสลายไปเองได้แพทย์จึงไม่ได้ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ซึ่งไม่ใช่การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (3) กระดูกซี่โครงด้านขวาหักแต่กระดูกจะเชื่อมติดเองได้แพทย์จึงไม่ได้ผ่าตัด กระดูกนิ้วก้อยขวาหักแพทย์ให้การรักษาทายาโดยไม่ต้องผ่าตัด และกระดูกไหปลาร้าหักแพทย์ผ่าตัดรักษาตามโลหะให้ กรณีจึงเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) ส่วนอาการบาดเจ็บมีเลือดออกในปอดก็เป็นอวัยวะภายในเพียงส่วนเดียวซึ่งแพทย์รักษาโดยการเจาะใส่ท่อระบายลมและเลือดในปอด จึงไม่ใช่การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (1) ดังนี้อาการบาดเจ็บของโจทก์เป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (2) เพียงรายการเดียว และเมื่อโจทก์พักรักษาตัวเป็นผู้ป่วย
ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 20 วัน โดยพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก 5 วัน จึงไม่ใช่การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 20 วัน ขึ้นไป กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551
ข้อ 4 (1) และ (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ รง 0621/58202 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 207/2554 ลงวันที่ 23 กันยายน 2554 และให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าอาการบาดเจ็บของโจทก์เข้าลักษณะกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 4 (1) และ (2) อันจะเป็นเหตุเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนหรือไม่ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เลือกให้แพทย์ใช้วิธีผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ จึงเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ โจทก์พักรักษาตัวในโรงพยาบาล 20 วัน โดยพักรักษาตัวในห้องผู้ป่วยหนัก 5 วัน เป็นกรณีพักรักษาตัวในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป ทั้งเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข เข้ากรณีประสบอันตรายตั้งแต่ 2 รายการขึ้นไป และกรณีจำเป็นต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 4 (1) และ (2) นั้น เห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าวข้อ 3 กำหนดว่า “ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 2 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกินหกหมื่นห้าพันบาทสำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข (2) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข (3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ…” ข้อ 4 กำหนดว่า “ในกรณีค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายตามข้อ 3 ไม่เพียงพอ ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้ เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลตามข้อ 2 และข้อ 3 แล้ว ต้องไม่เกินสองแสนบาท สำหรับการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยของลูกจ้างในลักษณะดังต่อไปนี้ (1) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป (2) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือต้องพักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนัก หอผู้ป่วยวิกฤต หรือหอผู้ป่วยไฟไหม้น้ำร้อนลวก ตั้งแต่ยี่สิบวันขึ้นไป (3) บาดเจ็บอย่างรุนแรงของระบบสมองหรือไขสันหลังที่จำเป็นต้องรักษาตั้งแต่สามสิบวันติดต่อกัน (4) ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยซึ่งรุนแรงหรือเรื้อรังจนเป็นผลให้อวัยวะสำคัญล้มเหลว” เมื่อได้ความว่า โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกกะโหลกศีรษะหลังหูขวาแตกมีเลือดออกในสมอง แพทย์ไม่ได้ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะเพราะเลือดในสมองจะสลายไปได้เอง กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (3) ส่วนอาการบาดเจ็บกระดูกซี่โครงด้านขวาหัก แพทย์ไม่ได้ผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกซี่โครงเพราะกระดูกซี่โครงเชื่อมติดเองได้ กระดูกไหปลาร้าหักแพทย์รักษาโดยการผ่าตัดดามด้วยโลหะ และกระดูกนิ้วก้อยขวาหักแพทย์รักษาทางยาไม่ได้ผ่าตัด กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (2) ส่วนอาการบาดเจ็บที่มีเลือดออกในปอดซึ่งเป็นอวัยวะภายในเพียงส่วนเดียวมิใช่หลายส่วน แพทย์เพียงเจาะเพื่อใส่ท่อระบายลมและเลือดในปอด กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 3 (1) สรุปคืออาการบาดเจ็บของโจทก์เข้าหลักเกณฑ์ข้อ 3 (2) เพียงรายการเดียว กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลที่ให้นายจ้างจ่าย พ.ศ.2551 ข้อ 4 (1) ที่ต้องเป็นการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยตามข้อ 3 (1) ถึง (6) ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป และไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อ 4 (2) เพราะโจทก์ไม่ได้ใช้เครื่องช่วยหายใจและไม่ได้พักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักตั้งแต่ 20 วันขึ้นไป โจทก์พักรักษาตัวอยู่ในหอผู้ป่วยหนักเพียง 5 วัน เท่านั้น ดังนี้คำพิพากษาศาลแรงงานกลางจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน