คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามตั๋วสัญญาใช้เงินระบุวันออกตั๋วคือวันที่ 30 กันยายน 2540 วันถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 31 ตุลาคม 2540 กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ BBL MOR +1 ต่อปี เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยออกมีข้อกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ และมิได้ระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันใด จึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนับแต่วันที่ลงในตั๋ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 911, 968, 985 เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องบอกกล่าวหรือทวงถามก่อนแต่อย่างใด เมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ผู้รับโอนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมจึงมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้จากจำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 435,840,410.96 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและอาคารชุดรวม 381 ห้อง ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์จนครบ ถ้าได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองชำระหนี้จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้จำนวน 393,575,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราขั้นต่ำตามประกาศของโจทก์ภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยบวกด้วย 2.50 (MOR+2.50) ในต้นเงิน 300,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอมาท้ายฟ้อง หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว และห้องชุดรวม 381 ห้องชุด ซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้กับโจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนกว่าจะครบ หากได้เงินไม่พอชำระให้บังคับเอากับทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองจนกว่าจะครบ ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความแทนโจทก์ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 อันเป็นวันถัดจากวันออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับสุดท้ายจนถึงวันฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ก่อนที่โจทก์จะรับโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้มา ยังไม่ได้มีการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ โจทก์เพิ่งมาบอกกล่าวทวงถามเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2542 ก่อนหน้านี้จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เห็นว่า หนี้ของจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ที่เกิดจากการขายลดตั๋วเงินตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ ซึ่งตามตั๋วสัญญาใช้เงินระบุวันออกตั๋วคือวันที่ 30 กันยายน 2540 วันถึงกำหนดใช้เงินวันที่ 31 ตุลาคม 2540 กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ BBL MOR+1 ต่อปี และตามสัญญาวงเงินสินเชื่อ ข้อ 2 กำหนดให้ลูกหนี้ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนทุก ๆ สิ้นเดือน ดังนี้ เมื่อตั๋วสัญญาใช้เงินที่จำเลยที่ออกมีข้อกำหนดให้คิดดอกเบี้ยได้ และมิได้ระบุว่าให้คิดดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันใด จึงต้องคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ในตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวนับแต่วันที่ลงในตั๋ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 911, 968, 985 เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องของโจทก์ประกอบประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนลดของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่สัญญาอ้างอิงถึงอัตราดอกเบี้ย BBL MOR +1 นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2540 เท่ากับ 15.75 ต่อปี และนับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2540 เท่ากับ 16.25 ต่อปี ซึ่งจำเลยทั้งสองจะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนี้ให้แก่โจทก์ด้วย และต่อมาวันที่ 31 ตุลาคม 2540 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง โดยเจ้าหนี้ไม่จำต้องบอกกล่าวหรือทวงถามก่อนแต่อย่างใด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้ในขณะนั้นจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดจากจำเลยที่ 1 โดยมิต้องบอกกล่าว ต่อมาเมื่อมีการโอนสิทธิเรียกร้องนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ผู้รับโอนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนเจ้าหนี้เดิมจึงมีสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่มีอยู่ทั้งหมดรวมทั้งอุปกรณ์แห่งหนี้จากจำเลยทั้งสองได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share