คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6539/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(2) และ (4) มิได้บัญญัติว่าคำขออันใดจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่นมีโอกาสคัดค้านก่อน และถ้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้เสนอต่อศาลนั้นโดยไม่ต้องทำการไต่สวนแล้ว ก็ให้ศาลมีอำนาจทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรก่อนมีคำสั่งตามคำขอนั้น เมื่อตามคำร้องของทนายผู้ร้องยังไม่ได้ความแน่ชัดว่าผู้ร้องถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของทนายผู้ร้องเสียก่อนแล้วส่งมายังศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไปการที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้สั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของทนายผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 247 ประกอบ 243

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางปรียาบุญนาค ซึ่งถึงแก่ความตาย ขอศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางปรียา ผู้ตาย

ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางปรียาผู้ตาย

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งตั้งพันตำรวจโทสุพัฒน์ แรมวัลย์ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางปรียา บุญนาค ผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้าน

ผู้คัดค้านอุทธรณ์

ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทนายผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องถึงแก่ความตาย ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดี

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

ผู้คัดค้านฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ร้อง ผู้คัดค้าน และนางปรียาบุญนาค เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2539 นางปรียาถึงแก่ความตาย ผู้ตายมีทรัพย์มรดก แต่มิได้ตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าได้รับมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านอุทธรณ์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ทนายผู้ร้องยื่นคำร้องลงวันที่ 7 เมษายน 2541 ว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2541 ผู้ร้องถึงแก่ความตายด้วยโรคระบบไหลเวียนโลหิตและหัวใจล้มเหลว ณ โรงพยาบาลศิริราช ตามสำเนามรณบัตรท้ายคำร้องดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสำเนาให้ผู้คัดค้านรวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของทนายผู้ร้องในประการแรกว่า ผู้ร้องถึงแก่ความตายจริงตามคำร้องหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของทนายผู้ร้องดังกล่าวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21(2) และ (4) มิได้บัญญัติว่า คำขออันใดจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวห้ามมิให้ศาลทำคำสั่งในเรื่องนั้น ๆ โดยมิให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือคู่ความอื่นมีโอกาสคัดค้านก่อน และถ้าประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้ว่าศาลต้องออกคำสั่งอนุญาตตามคำขอที่ได้เสนอต่อศาลนั้นโดยไม่ต้องทำการไต่สวนแล้ว ก็ให้ศาลมีอำนาจทำการไต่สวนได้ตามที่เห็นสมควรก่อนมีคำสั่งตามคำขอนั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องของทนายผู้ร้องยังไม่ได้ความแน่ชัดว่าผู้ร้องถึงแก่ความตายจริงหรือไม่ เมื่อความปรากฏระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของทนายผู้ร้องดังกล่าวเสียก่อน แล้วส่งมายังศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไปตามคำขอของทนายผู้ร้อง ไม่สมควรก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้โดยรีบด่วนวินิจฉัยตามคำร้องของทนายผู้ร้องเลยไปว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีเนื่องจากผู้ร้องถึงแก่ความตายหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ได้สั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของทนายผู้ร้อง จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้คัดค้านต่อไป”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนคำร้องของทนายผู้ร้อง ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2541 แล้วส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีไปตามรูปความ

Share