แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งผู้ออกตั๋วได้ลงข้อความในด้านหน้าของตั๋วว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ดังนี้ตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นย่อมจะโอนกันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 917 วรรคสอง ประกอบมาตรา 985 การโอนสามัญคือ การโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 กล่าวคือ ต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ และการโอนนั้นจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอน โดยคำบอกกล่าวหรือความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือด้วย การที่ลูกหนี้ที่ 1 ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินมีข้อความในด้านหน้าว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” ให้กับ ธ. ต่อมา ธ. สลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้เจ้าหนี้โดยมิได้ทำเป็นหนังสือ แม้ ธ. จะได้ทำหนังสือแจ้งการสลักหลังให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบพร้อมทั้งโอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าหนี้ก็ตาม เจ้าหนี้ก็ยังไม่เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 1 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ที่ ๑ เด็ดขาด ต่อมานายอติชาต อิทธิวณิชย์ เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นเงิน ๑๙๗,๐๔๒.๐๑ บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ โดยอ้างว่าลูกหนี้ที่ ๑ เป็นหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้นัดบรรดาเจ้าหนี้และลูกหนี้มาตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓ มาตรา ๑๐๔ แล้ว ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพยานฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้วทำความเห็นเสนอศาลว่า เห็นควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายนี้ตาม มาตรา ๑๐๗(๑) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.๒๔๘๓
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่เจ้าหนี้ฎีกาว่า เมื่อคดีรับฟังได้ว่าเจ้าหนี้ได้รับโอนตั๋วสัญญาใช้เงินต่อนายธาตรี นายธาตรีได้แจ้งการสลักหลังและส่งมอบตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นหนังสือมายังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ก็เท่ากับว่าได้แจ้งการโอนไปยังลูกหนี้ที่ ๑ แล้ว การโอนตั๋วสัญญาใช้เงินระหว่างนายชาตรีและเจ้าหนี้จึงชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.๑ ผู้ออกตั๋วคือลูกหนี้ที่ ๑ ได้ลงข้อความในด้านหน้าของเอกสารดังกล่าวว่า “เปลี่ยนมือไม่ได้” จึงมีผลบังคับว่าย่อมจะโอนให้แก่กันได้แต่โดยรูปการและด้วยผลอย่างการโอนสามัญ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๙๑๗ วรรคสอง และมาตรา ๙๘๕ ได้บัญญัติให้นำไปบังคับใช้ในเรื่องตั๋วสัญญาใช้เงินด้วย การโอนสามัญ คือการโอนสิทธิเรียกร้องซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ ซึ่งบัญญัติว่า “การโอนหนี้อันจะพึงต้องชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงนั้น ถ้าไม่ทำเป็นหนังสือท่านว่าไม่สมบูรณ์ อนึ่ง การโอนหนี้นั้นท่านว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ แต่เมื่อได้บอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้หรือลูกหนี้จะได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้นคำบอกกล่าวหรือความยินยอมเช่น ว่านี้ท่านว่าต้องทำเป็นหนังสือ” ดังนั้นการที่นายธาตรีสลักหลังตั๋วสัญญาใช้เงินตามเอกสารหมาย จ.๑ และโอนตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวให้เจ้าหนี้ไม่ใช่เป็นการทำหนังสือโอนหนี้ให้เจ้าหนี้แม้การที่นายธาตรีลงลายมือชื่อใน เอกสารหมาย จ.๒ แจ้งการโอนตั๋วสัญญาใช้เงินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ ๑ ทราบ ก็ไม่ถือว่าเป็นการทำหนังสือโอนหนี้ เป็นแต่เพียงการกระทำให้มีผลว่าจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ลูกหนี้หรือบุคคลภายนอกได้ เท่านั้น แต่การจะยกเป็นข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ก็ต้องมีการกระทำอันเป็นการโอนหนี้ในตอนแรกให้ถูกต้องก่อนคือ ทำเป็นหนังสือ เมื่อคดีรับฟังได้ว่านายชาตรีไม่ได้ทำหนังสือโอนหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้รายนี้จึงยังไม่เป็นผู้ทรงตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่มีสิทธิยื่นคำของรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน