แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่เป็นสินสมรสการฟ้องเรียกเก็บเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรส หญิงมีสามีจึงมีอำนาจฟ้องคดีได้ตามลำพังตน โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากสามี
เงินค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนการขายที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการขายอันเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2 ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณค่าชดเชยด้วย
นายจ้างกำหนดว่าเงินโบนัสพิเศษจะจ่ายให้เมื่อสิ้นปี ย่อมแสดงว่าลูกจ้างต้องทำงานถึงสิ้นเดือนธันวาคมจึงจะมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว เมื่อลูกจ้างถูกเลิกจ้างก่อนถึงสิ้นเดือนธันวาคม ถูกจ้างก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสพิเศษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าชดเชยส่วนที่ชำระไม่ครบ เงินสะสม เงินโบนัส เงินโบนัสพิเศษ (รางวัลการขาย) ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับความยินยอมจากสามีจึงไม่มีอำนาจฟ้อง การเลิกจ้างมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ค่าพาหนะและค่านายหน้ามิใช่ค่าจ้าง จำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชยเพิ่ม มีสิทธิได้โบนัสพิเศษ ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แล้วพิพากษาให้จำเลยร่วมกันจ่ายเงินแก่โจทก์ ๒๐๖,๐๗๗.๕๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำงานแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า แม้โจทก์เป็นหญิงมีสามีฟ้องความโดยไม่ได้รับความยินยอมจากสามี แต่สิทธิตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นสิทธิเฉพาะตัวของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่เป็นสินสมรส การฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เป็นการจัดการสินสมรส โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ลำพังตน หาจำต้องได้รับความยินยอมของสามีโจทก์ก่อนไม่ ส่วนเงินค่านายหน้าหรือค่าตอบแทนการขายเป็นเงินที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เพื่อตอบแทนการขายอันเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน เงินค่านายหน้าจึงเป็นค่าจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ ๒ ต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วย และจำเลยมีข้อกำหนดว่า เงินโบนัสพิเศษจะจ่ายให้เมื่อสิ้นปี แสดงว่าโจทก์ต้องทำงานถึงสิ้นเดือนธันวาคม จึงจะมีสิทธิได้รับโบนัสพิเศษดังกล่าว โจทก์ทำงานถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๓๐ แล้วถูกเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินโบนัส
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินโบนัสพิเศษจำนวน ๖,๐๐๐ บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง