คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4392-4393/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นที่ดินอำเภอได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.3 มีหน้าที่ออกไปตรวจสอบว่า มีไม้ขึ้นอยู่ในที่ดินแปลงที่ขออนุญาตทำไม้หรือไม่ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกไปตรวจสอบ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกการตรวจสอบไม้ว่า เห็นสมควรให้ทำไม้ยางออกจากที่ดิน น.ส.3 ได้ เป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้ออกไปตรวจสอบไม้ดังกล่าวอันเป็นความเท็จ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ โดยมีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๐, ๑๖๑, ๑๖๒, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖, ๘๓, ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๓ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ ข้อ ๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๗, ๑๑, ๕๔, ๖๙, ๗๒ ตรี, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๔ มาตรา ๖ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๑๗ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗, ๒๒ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓, ๗, ๙ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๒๕ มาตรา ๓, ๔ และริบไม้ของกลางพร้อมเอกสารของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำนวน ๙ กรรม กรรมละ ๑ ปี รวม ๙ ปี และให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๒ จำนวน ๙ กรรม กรรมละ ๓ เดือน รวม ๒ ปี ๓ เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น ๑๑ ปี ๓ เดือน ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกไว้ ๗ ปี ๖ เดือน ริบไม้ของกลางและเอกสารทั้งหมด ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๒ ทุกบทมาตรา คำขออื่นท้ายฟ้องทั้งสองคดีให้ยก
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาทั้งสองสำนวน
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๑ ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ รวม ๙ กระทง และลงโทษตามมาตรา ๑๖๒ อีกรวม ๙ กระทง เป็นการมิชอบ เพราะการกระทำของจำเลยที่ ๑ ในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตามมาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยที่ ๑ รับราชการมีตำแหน่งเป็นที่ดินอำเภอได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.๓ มีหน้าที่ออกไปตรวจสอบว่า มีไม้ขึ้นอยู่ในที่ดินแปลงที่ขออนุญาติทำไม้หรือไม่ แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ได้ออกไปตรวจสอบ อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อรับรองในบันทึกการตรวจสอบไม้ว่า เห็นสมควรให้ทำไม้ยางออกจากที่ดิน น.ส.๓ ทั้ง ๙ ราย เป็นการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้ออกไปตรวจสอบไม้ดังกล่าวอันเป็นความเท็จ เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่ไม่ออกไปตรวจสอบไม้ในที่ดิน น.ส.๓ ตามที่ตนมีหน้าที่ ซึ่งเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันกับการที่จำเลยที่ ๑ ลงลายมือชื่อในบันทึกการตรวจสอบไม้รับรองว่าตนได้ไปตรวจสอบแล้ว อันเป็นความเท็จ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นในคราวเดียวกันนั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษที่หนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ โดยแยกลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ กับมาตรา ๑๖๒ เป็นคนละกรรมนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ในข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมาตรา ๑๖๒ (๑) ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๕๗ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด รวม ๙ กระทง จำคุกกระทงละ ๑ ปี รวมเป็นจำคุก ๙ ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามคงจำคุก ๖ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share