แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่ง โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อันเป็นการละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อโจทก์ จึงเป็นการฟ้องให้รับผิดทางแพ่งที่มาจากมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงาน มิใช่โจทก์อาศัยคำสั่งดังกล่าวบังคับตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 อันจะต้องอาศัยสำนวนการสอบสวน จำเลยที่ 2 และที่ 3 สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองได้ สำนวนการสอบสวนของโจทก์เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาคดีในชั้นศาลเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องโดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก่อนไม่ทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดฐานละเมิดและผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป เป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทั้งในมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน กฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 506,993.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 304,738.80 บาท โดยให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ชำระเงินคนละ 8,318.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัด ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ดำเนินคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ไปฝ่ายเดียว และระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลางโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลแรงงานกลางอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 299,738.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 กันยายน 2547) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินรวมกันไม่เกิน 50,789.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระต้นเงินนี้เสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์แทน แต่จำเลยที่ 4 ไม่จำต้องรับผิดในต้นเงินเกินกว่า 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เดิมโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 2 ในวงเงิน 5,000 บาท จำเลยที่ 1 เคยเป็นพนักงานโจทก์ตำแหน่งนายไปรษณีย์ระดับ 3 ประจำที่ทำการไปรษณีย์หลานหลวง มีหน้าที่รับชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากจะได้รับมอบหมายให้ลงลายมือชื่อร่วมกับพนักงานการเงินแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยังปฏิบัติหน้าที่พนักงานการเงินและพนักงานบัญชีตามลำดับด้วย ระหว่างปฏิบัติหน้าที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ไป 304,738.80 บาท โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยหาตัวผู้รับผิดหรือร่วมรับผิดในทางแพ่ง คณะกรรมการสอบสวนดังกล่าวมีมติว่าจำเลยที่ 1 เบียดบังยักยอกเงินของโจทก์ไป เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและเป็นการกระทำการด้วยตนเองโดยมิได้มีผู้ใดบกพร่องหรือมีส่วนร่วมในการทุจริต ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางละเมิดมีมติให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากเป็นหนี้ที่แบ่งแยกได้ จึงให้รับผิดคนละ 1 ใน 3 ของค่าเสียหายซึ่งกรมบัญชีกลางเห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงอาศัยอำนาจตามข้อบังคับการสื่อสารแห่งประเทศไทยฉบับที่ 1 ว่าด้วยความรับผิดของพนักงานและลูกจ้างการสื่อสาร แห่งประเทศไทยในทางแพ่ง พ.ศ.2522 ข้อ 4 และข้อ 5 ออกคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังอันควรแก่วิสัยและพฤติการณ์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริต จึงเป็นการผิดสัญญาจ้างและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อโจทก์ แต่เมื่อพิเคราะห์ความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว เห็นสมควรให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 50,789.80 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีนี้มีมูลสืบเนื่องมาจากกรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งต่อมาโจทก์มีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดตามความเห็นของกรมบัญชีกลางดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งนั้น โจทก์จึงมาฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำผิดหน้าที่อันเป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ต่อโจทก์ เมื่อการฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทางแพ่งในคดีนี้มาจากมูลละเมิดและผิดสัญญาจ้าง มิใช่โจทก์อาศัยคำสั่งดังกล่าวบังคับตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอันจะต้องอาศัยสำนวนการสอบสวน ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงต่อศาลเพื่อพิสูจน์การกระทำของตนเองได้ สำนวนการสอบสวนของโจทก์เป็นเพียงพยานหลักฐานประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นศาลเท่านั้น การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ได้ตั้งกรรมการสอบสวนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ถูกกล่าวหาก่อน ไม่มีผลทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีนี้ได้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 อ้างว่าโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้ร่วมรับผิดในมูลละเมิดที่จำเลยที่ 1 กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ โดยไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่มีการออกคำสั่งทางปกครองที่จะบังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 57 ดังนั้นการฟ้องร้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดเป็นไปได้เพียงฐานละเมิดเท่านั้น คดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์อ้างว่ารู้ตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 เป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งการสื่อสาร แห่งประเทศไทย ที่ 206/2530 เรื่องการรับชำระค่าใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการในส่วนกลางและการรับชำระค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ณ ที่ทำการ รับผิดฐานผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ทุจริตเบียดบังเอาเงินของโจทก์ไป ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวข้างต้นเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดทั้งมูลละเมิดและมูลผิดสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งเรื่องผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นกฎหมายมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน