คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ. ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ. 2546 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์” แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ ย่อมถือว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 32, 91, 138 วรรคสอง, 371 และริบอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง, 371 พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จำคุก 2 เดือน ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 8 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 10 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน และให้ลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน 4,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และคุมความประพฤติของจำเลยไว้ 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบอาวุธปืนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีอาวุธปืนและพาอาวุธปืนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ. ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตมามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ. 2546 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์” แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่เมื่อขณะเกิดเหตุในคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 ยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่สำหรับความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ ย่อมถือว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงคงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนซึ่งเป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา 371 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพาอาวุธปืนด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 371 อีกฐานหนึ่ง ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 2,500 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานแล้วเป็นจำคุก 4 เดือน และปรับ 4,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควร มีกำหนด 30 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8.

Share