คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องในขณะที่ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ใช้บังคับ และเป็นการขายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปตามมาตรา 91/10 (เดิม) แห่ง ป. รัษฎากร ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย แม้ต่อมาจะมี พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และให้ยกเลิก พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ก็มีผลต่อการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ไม่มีผลต่อการขายที่ดินของโจทก์และความรับผิดในการเสียภาษีของโจทก์ที่มีอยู่แล้วแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีและจำเลยไม่ต้องคืนภาษีที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวน 96,376.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2545 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามฟ้องมาเมื่อปี 2534 อีกประมาณ 1 ปีต่อมาโจทก์ขายที่ดินทั้งสามแปลงแก่ผู้อื่น ซึ่งเข้าลักษณะตามหลักเกณฑ์ในพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น โดยมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ จนกระทั่งจำเลยเชิญโจทก์ไปพบเพื่อสอบถาม โจทก์จึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2545 เป็นภาษีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามจำนวนที่จำเลยคำนวณโดยอาศัยราคาประเมินของกรมที่ดินเป็นฐานภาษี และโจทก์ชำระภาษีบางส่วน 96,376.50 บาท ยังค้างชำระเงินเพิ่มกับภาษีบำรุงเทศบาลอยู่อีก 96,376.50 บาท เพราะจำเลยอนุมัติให้งดเบี้ยปรับ ต่อมาวันที่ 2 ธันวาคม 2545 โจทก์ขอคืนเงินภาษีจำนวนนั้นพร้อมดอกเบี้ยโดยอ้างว่ามีการยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ที่มีผลบังคับใช้ในขณะที่โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องแล้ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยต้องคืนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะจำนวนนั้นแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ขายที่ดินตามฟ้องในขณะที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 ใช้บังคับ และเป็นการขายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไปตามมาตรา 91/10 (เดิม) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลาโจทก์จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่มด้วย แม้ต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 และให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 โดยไม่มีบทเฉพาะกาลให้จำเลยยังคงมีอำนาจจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างชำระดังที่โจทก์อ้างก็ตาม พระราชกฤษฎีกาฉบับหลังก็มีผลต่อการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป ไม่มีผลต่อการขายที่ดินของโจทก์และความรับผิดในการเสียภาษีของโจทก์ที่มีอยู่แล้วแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนภาษีและจำเลยไม่ต้องคืนภาษีที่โจทก์ชำระแล้วแก่โจทก์ ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนจำเลย

Share