คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 44 ประกอบด้วยมาตรา 18 (2) บัญญัติให้โรงเรียนเอกชนเป็นนิติบุคคล ซึ่งบทบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 แม้ตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 71 จะให้จำเลยซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับให้คงมีฐานะและอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไปจนกว่าจะได้มีการจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปรากฏว่าครบสามปีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2545 จำเลยย่อมมีสภาพเป็นนิติบุคคลโดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทะเบียน โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 หลังจากจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์เป็นครูลูกจ้างจำเลยฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากจำเลยที่จ่ายขาดตามสัญญาจ้างแรงงาน ย่อมมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ดังนั้น คำฟ้องที่เรียกเอาค่าจ้างที่ถึงกำหนดจ่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2542 ถึงเดือนมิถุนายน 2544 ย่อมเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความ คงเรียกค่าจ้างค้างจ่ายได้เดือนละ 1,360 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 เป็นค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 14 เดือน เป็นเงิน 19,040 บาท

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินส่วนต่างที่จำเลยจ่ายเงินเดือนต่ำกว่าที่ทางราชการกำหนดเดือนละ 1,360 บาท เป็นเวลา 34 เดือน เป็นเงิน 46,240 บาท เงินเดือนสำหรับเดือนกันยายน 2545 จำนวน 5,000 บาท และค่าชดเชยจำนวน 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์เพิ่มให้ครบตามวุฒิ จำนวน 46,240 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 44 ประกอบด้วยมาตรา 18 (2) บัญญัติให้โรงเรียนเอกชนเป็นนิติบุคคล ซึ่งบทบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2542 แม้ตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 71 จะให้จำเลยซึ่งเป็นสถานการศึกษาที่ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่มีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับให้คงมีฐานะและอำนาจหน้าที่เช่นเดิมต่อไปจนกว่าจะได้มีการจัดระบบการบริหารและการจัดการศึกษาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งต้องไม่เกินสามปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ปรากฏว่าครบสามปีเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2545 จำเลยย่อมมีสภาพเป็นนิติบุคคลโดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานทะเบียน โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 หลังจากจำเลยมีฐานะเป็นนิติบุคคลแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างฟ้องเรียกเอาค่าจ้างจากจำเลยเกินกว่า 2 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (9) โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 ดังนั้น คำฟ้องที่เรียกเอาค่าจ้างที่ถึงกำหนดจ่ายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2542 ถึงเดือนมิถุนายน 2544 ย่อมเกิน 2 ปี จึงขาดอายุความ คงเรียกค่าจ้างค้างจ่ายได้เดือนละ 1,360 บาท ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 ถึงเดือนสิงหาคม 2545 เป็นค่าจ้างค้างจ่ายจำนวน 14 เดือน เป็นเงิน 19,040 บาท อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์เพิ่มให้ครบตามวุฒิจำนวน 19,040 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 9.

Share