คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์และได้ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้า12 ฉบับ เพื่อชำระค่าเช่าซื้อที่ต้องผ่อนชำระ 12 งวด เมื่อเช็คงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 12 เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 8แต่ปรากฏว่าโจทก์มิได้ถือเอาการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเป็นสาระสำคัญกลับยังคงรับชำระหนี้ต่อมา แม้สัญญาข้อ 10 จะกำหนดว่าในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดและเจ้าของยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งใดไม่ให้ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดครั้งอื่นก็ตาม แต่การที่โจทก์ยอมรับเงินตามเช็คค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากจำเลยอีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างมีเจตนามุ่งหมายระงับข้อผูกพันเดิม ไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญาเป็นการผิดสัญญาและไม่ประสงค์จะเลิกสัญญา การที่จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 เป็นต้นมาจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2526 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์ราคา 153,500 บาท โดยชำระเงินในวันทำสัญญา38,500 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระ 12 งวด จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 เป็นเหตุให้สัญญาเลิกกันทันที จำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน48,800 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ และให้ใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งรถยนต์พิพาทหรือใช้ราคาให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 4,000 บาท กับให้ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 19,200 บาท จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า มิได้เช่าซื้อรถยนต์พิพาทจากโจทก์แต่เป็นการซื้อเงินผ่อน โดยจำเลยที่ 1 ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าชำระราคาเป็นงวดรวม 12 งวด ต่อมาเช็คงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 12 เรียกเก็บเงินไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ขอชำระเงินสดแทนโดยแบ่งชำระ 2 ครั้ง แต่ต่อมาโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินเพิ่มโดยอ้างว่าต้องปรับราคาใหม่ จำเลยที่ 1ไม่ตกลงด้วย โจทก์จึงนำเช็คสองฉบับสุดท้ายไปยื่นฟ้องเป็นคดีอาญาจำเลยที่ 1 นำเงินตามเช็คไปชำระ โจทก์ยอมถอนฟ้อง หากฟังว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ก็มิได้ผิดสัญญา และจากพฤติการณ์ของโจทก์แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะเลิกสัญญา สัญญาจึงมีผลใช้บังคับตลอดมา จำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้แก่โจทก์หมดสิ้นแล้ว โจทก์ได้รับเงินค่าภาษีรถยนต์ประจำปีจากจำเลยที่ 1 แล้วแต่มิได้นำไปชำระแก่ทางราชการ เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1นำรถยนต์ออกวิ่งใช้งานไม่ได้ ทำให้เสียหายเป็นเงิน 87,500 บาทขอให้ยกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 87,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จและค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าโจทก์จะจัดการชำระค่าภาษีรถยนต์ และโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์กับจำเลยทั้งสองไม่มีหนี้สินต่อกัน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์มิใช่เป็นการซื้อเงินผ่อนเมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 11 ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน สัญญาเช่าซื้อเป็นอันเลิกกันทันที การที่โจทก์ยอมผ่อนผันการชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9 และ 10 ตามข้อตกลงในสัญญาไม่ถือว่าผ่อนผันการชำระค่าเช่าซื้องวดอื่นด้วย โจทก์ได้นำเงินค่าภาษีรถยนต์ประจำปีไปชำระเรียบร้อยแล้ว รถยนต์พิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งไม่เป็นความจริงโจทก์ไม่ต้องรับผิด การที่จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาก็เพื่อจะให้โจทก์ระงับคดีอาญา หาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ไม่ ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 1,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนโจทก์ กับชำระค่าเสียหายเดือนละ 1,200 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนหรือใช้ราคาแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองส่งคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 19,200 บาท โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ไปโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทแก่จำเลย จำเลยที่ 1 หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 10,000 บาทแก่จำเลยที่ 1พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงซึ่งไม่มีข้อโต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2526 จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทไปจากโจทก์เป็นเงินค่าเช่าซื้อ 153,500 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินสดให้โจทก์ในวันทำสัญญาจำนวน 38,500 บาท ส่วนที่เหลือ 115,000บาท จำเลยที่ 1 จะผ่อนชำระให้โจทก์เป็น 12 งวด งวดละเดือน เดือนละ9,580 บาท เฉพาะงวดสุดท้าย 9,620 บาท โดยจำเลยที่ 1 ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้ารวม 12 ฉบับชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คได้ตามงวดติดต่อกันมาจนเช็คงวดที่ 9 ซึ่งถึงกำหนดให้ใช้เงินวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ และเมื่อเช็คที่จำเลยที่ 1 ออกชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 ถึงกำหนดใช้เงินโจทก์ก็เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้เช่นกันหลังจากถึงกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 จะชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายคือภายในวันที่ 1 พฤษภาคม 2527 ผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 20สิงหาคม 2527 จำเลยที่ 1 ได้นำเงินสดไปชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9และที่ 10 เป็นเงิน 19,160 บาทให้แก่โจทก์ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาโจทก์นำเช็คค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 11และที่ 12 ไปฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงพระนครใต้ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คและวันที่ 16 ตุลาคม 2528 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.6 และในวันดังกล่าวโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลแขวงพระนครใต้มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องตามสำเนา คำร้องเอกสารหมาย ล.3
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 1หรือโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าซื้อ ได้ความตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาแล้วว่า หลังจากโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คงวดที่ 9 ถึงงวดที่ 12 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ได้นำเงินสดไปชำระค่าเช่าซื้องวดที่ 9และที่ 10 โจทก์ก็ยอมรับโดยมิได้ทักท้วง ดังนี้เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดซึ่งโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเลิกสัญญาเสียได้ตามข้อ 8 แต่กลับปรากฏว่าโจทก์มิได้ถือเอาการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเป็นสาระสำคัญ กล่าวคือยังคงรับชำระหนี้ต่อมา แม้ว่าตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 จะกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดและเจ้าของยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งใดไม่ให้ถือว่าเป็นการผ่อนผันการผิดนัดครั้งอื่นก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำเช็คค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระงวดที่ 11 และที่ 12 ไปฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอาญา และโจทก์ยอมรับเงินตามเช็คค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจากจำเลยที่ 1 อีก ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งสองฝ่ายต่างมีเจตนามุ่งหมายระงับข้อผูกพันเดิม ไม่ถือว่าการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดในสัญญานั้นเป็นการผิดสัญญาและไม่ประสงค์จะเลิกสัญญา ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 9 เป็นต้นมา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันและโจทก์ได้รับค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว รถยนต์พิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินการทำหนังสือรับรองและโอนทะเบียนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา และที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาทนั้นเหมาะสมดีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share