แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสี่ (เดิม) ต่อเมื่อลูกจ้างถูกนายจ้างให้ออกจากงานแล้ว
การที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เรียกค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอ้างว่านายจ้างจ่ายให้ไม่ครบ แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับการเลิกจ้างของนายจ้าง ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์ที่จะทำงานกับนายจ้างต่อไป การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดค่าเสียหายกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสามจึงชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) แล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันโดยให้เรียกโจทก์เรียงตาม ลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8
โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 234 – 236/2549 เฉพาะในส่วนให้บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายค่าเสียหาย 79,272 บาท 74,154 บาท และ 97,212 บาท ตามลำดับ และให้บริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด รับโจทก์ทั้งสามกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทุกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างบริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 5,670 บาท 6,150 บาท และ 6,250 บาท ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ทั้งสามได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสหภาพแรงงาน ได้ทำคำฟ้องยื่นต่อศาลแรงงานกลาง ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2549 โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งจำเลยทั้งแปดเป็นกรรมการ จำเลยทั้งแปดมีคำสั่งให้บริษัท เอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด จ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสามเป็นเงิน 79,272 บาท 97,212 บาท และ 74,154 บาท ตามลำดับ และศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานเรียกร้องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มและได้รับเงินส่วนที่ขอเพิ่มไปจากนายจ้างแล้ว เท่ากับโจทก์ทั้งสามยอมรับการเลิกจ้างและสัมพันธภาพของโจทก์ทั้งสามกับบริษัทฯ ในฐานะนายจ้างลูกจ้างย่อมสิ้นสุดตามข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดค่าเสียหายในกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามอายุงานของโจทก์ทั้งสามจึงชอบด้วยเหตุผล
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 234 – 236/2549 หรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ทำนองว่า การที่โจทก์ทั้งสามไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อเรียกร้องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ถือว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับการเลิกจ้าง เพราะถ้ายอมรับการเลิกจ้างก็ไม่มีเหตุที่จะต้องไปยื่นคำร้องดังกล่าว เห็นว่า การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่มีกำหนดระยะเวลา นายจ้างอาจจ่ายค่าจ้างให้ตามจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงเวลาเลิกสัญญาตามกำหนดที่บอกกล่าวและให้ลูกจ้างออกจากงานทันทีได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 ดังนั้น ลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้ต่อเมื่อลูกจ้างถูกนายจ้างให้ออกจากงานแล้ว การที่โจทก์ทั้งสามยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดชลบุรี เพื่อเรียกร้องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอ้างว่าบริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างจ่ายให้ไม่ครบ ย่อมแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสามยอมรับการเลิกจ้างของนายจ้าง เมื่อโจทก์ทั้งสามยอมรับการเลิกจ้าง ย่อมถือได้ว่าโจทก์ทั้งสามไม่ประสงค์ที่จะทำงานกับบริษัทเอเวอร์กรีน คอนเทนเนอร์ เทอร์มินัล (ประเทศไทย) จำกัด อีกต่อไป การที่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กำหนดค่าเสียหายกรณีการกระทำอันไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์ทั้งสามจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) แล้ว ไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 234 – 236/2549 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน