แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า จำหน่าย หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ที่จำเลยที่ 3 อ้างว่า ยังไม่มีการส่งมอบเงินที่ใช้ล่อซื้อแก่จำเลยที่ 2 การซื้อขายยังไม่สำเร็จนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นควมผิดสำเร็จแล้ว
โจทก์มิได้ระบุรายละเอียดว่าศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฏแก่ศาลให้รับฟังได้ว่าศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ดังนั้น จึงไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีดังกล่าวได้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตาม พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8,15, 66, 102 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตราม 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 83, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืน และปลอกกระสุนปืนของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4740/2543 และ 14322/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 1 ที่รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง, 102 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เมทแอมเฟตามีนของกลางที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่วยเป็นจำนวนเดียวกัน ความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกับความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) จึงเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีโทษเท่ากัน วางโทษฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่เพียงบทเดียว ให้จำคุกจำเลยทั้งสี่ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การรับสภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนด 25 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 ฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 มีกำหนด 25 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 25 ปี 12 เดือน นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4740/2543 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 14322/2544 ของศาลอาญาธนบุรี ริบเมทแอมเฟตามีน อาวุธปืนและปลอกกระสุนปืนของกลาง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 30,000 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 411.625 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย และจำเลยที่ 4 มีอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .38 ไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับจำนวน 1 กระบอก กระสุนปืนรีวอลเวอร์ขนาด .38 จำนวน 5 นัด ปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 1 ปลอก ไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควร และโดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายหรือไม่ โจทก์มีพันตำรวจตรีสินชัย ดาบตำรวจสมชาย และสิบตำรวจเอกชัยยา เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อดาบตำรวจสมชาย สิบตำรวจเอกชัยยา และสายลับเดินทางไปถึงสถานีบริการน้ำมัน ป.ต.ท. ที่เกิดเหตุ สายลับอีกคนหนึ่งซึ่งรออยู่ก่อนแล้วพาจำเลยที่ 2 มาตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับดาบตำรวจสมชายในรถยนต์ของดาบตำรวจสมชาย เมื่อตกลงกันแล้วจำเลยที่ 2 เดินไปที่รถยนต์นิสสัน เอ็นวี หมายเลขทะเบียน ลก 9572 กรุงเทพมหานคร ซึ่งจอดอยู่ห่างจากรถยนต์ของดาบตำรวจสมชายประมาณ 3 ถึง 4 เมตร รถยนต์คันดังกล่าวจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 3 นั่งหน้าคู่กับจำเลยที่ 4 ส่วนจำเลยที่ 1 นั่งด้านหลัง หลังจากนั้นจำเลยที่ 4 ก็ขับรถยนต์กลับออกไป ต่อมาประมาณ 20 นาทีจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์กลับมาจำเลยที่ 2 เดินไปที่รถยนต์ที่จำเลยที่ 4 ขับ โดยมีสายลับเดินตามไป จำเลยที่ 1 หยิบถุงพลาสติกสีน้ำเงินจากด้านหลังรถยนต์ส่งให้จำเลยที่ 3 ซึ่งยังคงนั่งคู่กับจำเลยที่ 4 แล้วจำเลยที่ 3 ส่งถุงนั้นแก่สายลับ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 เดินไปที่รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 นั่งอยู่เสร็จแล้วจำเลยที่ 4 ก็ขับรถยนต์ออกไป และกลับมาพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เชื่อว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ไปเอาเมทแอมเฟตามีนของกลาง จำเลยที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1 และที่ 4 ในรถยนต์ตั้งแต่จำเลยที่ 2 เข้าไปตกลงซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับดาบตำรวจสมชาย และเมื่อจำเลยที่ 4 ขับรถยนต์ออกไปและกลับเข้ามาใหม่พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำเลยที่ 3 ก็ยังคงกลับเข้ามาด้วย แสดงว่าจำเลยที่ 3 นั่งรถยนต์ไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 เพื่อนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมามอบแก่สายลับดังกล่าว การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษสถานหนัก ผู้กระทำหรือร่วมกระทำย่อมต้องกระทำโดยปกปิดรับรู้กันเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ให้ผู้อื่นรู้เห็นเพื่อความปลอดภัยหากจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 3 ย่อมไม่อาจอยู่ในเหตุการณ์นั้นได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ตามพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่ายังไม่มีการส่งมอบเงินที่ใช้ล่อซื้อแก่จำเลยที่ 2 การซื้อขายยังไม่สำเร็จนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า จำหน่าย หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนแก่สายลับแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่งในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นจะได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และ มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่คดีนี้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัมขึ้นไป กฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสี่จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยทั้งสี่ ไม่เป็นกรณีที่จะต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้วปรากฏว่า ที่โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4740/2543 ของศาลจังหวัดสมุทรสาครนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ระบุรายละเอียดว่าศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 หรือไม่ อย่างไร จึงไม่มีข้อเท็จจริงที่ปรากฎแก่ศาลให้รับฟังได้ว่าศาลจังหวัดสมุทรสาครพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ดังนั้นจึงไม่อาจนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากคดีดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองให้นับโทษต่อจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4740/2543 ของศาลจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์