คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 215/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรมแรงงานจำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายอันความประสงค์ของจำเลยที่ 1 ย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทนคืออธิบดีกรมแรงงานซึ่งเป็นผู้แทนโดยตำแหน่ง เมื่ออธิบดีกรมแรงงานซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับลูกจ้างเกี่ยวด้วยเงินชดเชยซึ่งเป็นการปฏิบัติราชการตามตำแหน่งหน้าที่ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้ หาจำต้องฟ้องอธิบดีกรมแรงงานในฐานะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ไม่ จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19ได้ออกคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างนับว่าเกิดมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลขึ้นแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งที่จำเลยทั้งสองออกมาบังคับแก่โจทก์ตกเป็นโมฆะ มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 2 และไม่ใช่กรณีละเมิด จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องกำหนดเวลาทำงานฯลฯข้อ 27 เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 2 ที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้างเท่ากับค่าจ้างไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในเมื่อได้จ้างติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ซึ่งคำว่า ‘เลิกจ้าง’ มีบทนิยามไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 3 หมายความถึงให้ลูกจ้างออกจากงานด้วยการให้ออกปลดออก หรือไล่ออกและรวมถึงการที่นายจ้างไม่ยินยอมให้ลูกจ้างปฏิบัติงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ฯลฯ ตามคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยแก่ลูกจ้างนั้นระบุว่าเป็นเรื่องโจทก์นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 4 ที่ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ. 2514มาตรา 3 ซึ่งว่าด้วยวิธีการในเรื่องข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงาน ค่าจ้าง และการงดจ้างเท่านั้น หาเกี่ยวกับเงินชดเชยซึ่งลูกจ้างจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากนายจ้างเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 27 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 2 ไม่
ตามบทนิยามในประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ เงินชดเชยนั้นเนื้อแท้ก็เป็น “ค่าจ้าง” ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นพิเศษตามความมุ่งหมายในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 2นั่นเอง แม้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 2 จะมิได้กล่าวถึงเงินชดเชยไว้ กระทรวงมหาดไทยก็มีอำนาจที่จะกำหนดการปฏิบัติในเรื่องนี้ได้ ประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 27 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ข้อ 2 เกี่ยวด้วยเงินชดเชยจึงมีผลบังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ อ้างอำนาจตามความในข้อ ๗ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยให้นายจำนงค์กับพวก เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของการทำงาน ๓๐ วันโดยอ้างว่าโจทก์เป็นนายจ้างของบุคคลดังกล่าว โจทก์ยื่นคำคัดค้านแล้วจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งยืนตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะนายจำนงค์กับพวกมิใช่ลูกจ้างของโจทก์ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ ข้อ ๔ ได้ถูกยกเลิกไปแล้วโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ. ๒๕๐๘ จำนวนเงินที่สั่งให้โจทก์จ่ายสูงไป ขอให้ศาลพิพากษาว่าประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตกเป็นโมฆะ คำสั่งของจำเลยทั้งสองซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศดังกล่าวตกเป็นโมฆะด้วย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ออกคำสั่งไปโดยชอบด้วยกฎหมายนายจำนงค์กับพวกเป็นลูกจ้างของโจทก์ คำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ยังใช้บังคับได้ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ข้อ ๔ ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงานพ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๓ แล้ว คำสั่งของจำเลยทั้งสองออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้ว พิพากษาว่าคำสั่งของจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กรมแรงงานจำเลยที่ ๑ เป็นกรมในรัฐบาล เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย อันความประสงค์ของกรมแรงงานจำเลยที่ ๑ ย่อมแสดงปรากฏจากผู้แทน คืออธิบดีกรมแรงงานซึ่งเป็นผู้แทนโดยตำแหน่งของกรมแรงงานจำเลยที่ ๑ นั่นเอง อธิบดีกรมแรงงานปฏิบัติราชการตามตำแหน่งหน้าที่ กรมแรงงานจำเลยที่ ๑ ย่อมจะปลีกตนให้พ้นจากความรับผิดหาได้ไม่ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องกรมแรงงานจำเลยที่ ๑ได้หาจำต้องฟ้องอธิบดีกรมแรงงานในฐานะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ไม่และจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ได้ออกคำสั่งที่ ๖๕/๒๕๑๑ และจำเลยที่ ๑ ได้ออกคำสั่งที่ ๔/๒๕๑๒ แจ้งไปยังโจทก์ ซึ่งตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองก็ให้โจทก์จ่ายเงินชดเชยแก่นายจำนงค์ ศรีคชา กับพวกเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายของการทำงาน ๓๐ วัน เป็นเงิน ๖๓,๖๐๐ บาท โจทก์ได้คัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ต่อมาจำเลยที่ ๑ ยังได้แจ้งคำสั่งยืนยันให้โจทก์ปฏิบัติไปตามคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ฉะนั้น นับว่าเกิดมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบุคคลขึ้นแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ได้ ตามฎีกาที่จำเลยอ้างรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ และในเรื่องนี้โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ ๒และไม่ใช่กรณีละเมิด จึงไม่ต้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง แต่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าคำสั่งที่จำเลยทั้งสองออกมาบังคับแก่โจทก์ตกเป็นโมฆะ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงอ้างเหตุต่าง ๆเพื่อปัดความรับผิดชอบหาได้ไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า กรณีพิพาทระหว่างโจทก์กับนายจำนงค์ ศรีคชากับพวกเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างโจทก์นายจ้างกับนายจำนงค์ ศรีคชากับพวกลูกจ้าง เกี่ยวกับข้อพิพาทแรงงานหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เรื่องนี้จำเลยทั้งสองมีคำสั่งที่ ๖๕/๒๕๑๑ และคำสั่งที่ ๔/๒๕๑๒ ให้โจทก์นายจ้างจ่ายเงินชดเชยแก่นายจำนงค์ ศรีคชา กับพวกลูกจ้าง โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๗ อ้างว่า โจทก์ได้จ้างนายจำนงค์ ศรีคชา กับพวกติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน เมื่อโจทก์เลิกจ้างก็ต้องจ่ายเงินชดเชยเท่ากับเงินค่าจ้างไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยอาศัยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดเวลาทำงานวันหยุดงานของลูกจ้าง การใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้าง และการจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้าง ข้อ ๒๗ ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒
ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ มีใจความว่า “ให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดเวลาทำงาน วันหยุดงานของลูกจ้างการใช้แรงงานหญิงและเด็ก การจ่ายค่าจ้าง การจัดให้มีสวัสดิการเพื่อสุขภาพอนามัยของลูกจ้างตามสมควร” และประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๒๗ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ มีใจความว่า “ถ้าเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งได้จ้างติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นายจ้างต้องชี้แจงเหตุเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบ และต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้นเท่ากับค่าจ้างไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เว้นแต่นายจ้างตกลงจ่ายให้มากกว่ากำหนดดังกล่าวนี้อยู่แล้ว เงินชดเชยให้คำนวณตามค่าจ้างอัตราสุดท้าย ฯลฯ
เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๒๗ ดังกล่าว เป็นเรื่องที่กระทรวงมหาดไทยออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ที่กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างประจำเมื่อเลิกจ้างเท่ากับค่าจ้างไม่น้อยกว่าสามสิบวันในเมื่อได้จ้างติดต่อกันมาไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นอกจากนี้คำว่า “เลิกจ้าง” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๓ ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ได้กำหนดบทนิยามไว้ว่าหมายความถึงให้ลูกจ้างออกจากงานด้วยการให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก และรวมถึงการที่นายจ้างไม่ยินยอมให้ลูกจ้างปฏิบัติงานและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ฯลฯ ตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองท้ายฟ้องก็ระบุว่าเป็นเรื่องโจทก์นายจ้างเลิกจ้างนายจำนงค์ ศรีคชา กับพวกลูกจ้าง กรณีจึงไม่ต้องด้วยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๔ ที่ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๓เพราะตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๔ ที่ถูกยกเลิกไปนี้ว่าด้วยวิธีการในเรื่องข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงาน ค่าจ้าง และการงดจ้างเท่านั้น ถ้าพิจารณาพระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ. ๒๕๐๘ ที่ให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๔ ซึ่งได้กำหนดบทนิยามคำว่า “ข้อพิพาทแรงงาน”และคำว่า “สภาพการจ้าง” ขึ้นประกอบแล้วจะเห็นได้ว่า “ข้อพิพาทแรงงาน”หมายความว่า ข้อขัดแย้งระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างและ “สภาพการจ้าง” หมายความว่า เงื่อนไขการจ้าง กำหนดวันและเวลาทำงาน การทำงาน การเลิกจ้าง ค่าจ้าง สวัสดิการหรือประโยชน์อื่นของลูกจ้างหรือนายจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน และตามมาตรา ๕แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวนี้จะต้องเป็นเรื่องที่ลูกจ้างหรือนายจ้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงข้อตกลงหรือการปฏิบัติใด ๆ เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ตกลงกันไว้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินชดเชยที่ลูกจ้างจะพึงได้รับอันเนื่องมาจากนายจ้างเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๒๗ ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด คำสั่งของจำเลยทั้งสองจึงออกมาโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัต ิฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ และข้อ ๓ มิได้ออกมาโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๔ ที่ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน พ.ศ. ๒๕๐๘
ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดให้โจทก์จ่ายได้เพียงเงิน “ค่าจ้าง” เท่านั้นโดยไม่มีอำนาจกำหนดให้จ่ายเงินชดเชยด้วยใช่หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๓ ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ได้กำหนดบทนิยามคำว่า “เงินชดเชย” ไว้ว่าหมายความถึงเงินที่นายจ้างจะต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว และเงินชดเชยที่จะต้องจ่ายดังกล่าว ได้มีกำหนดไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๒๗ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๓ มีใจความว่านายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างนั้นเท่ากับค่าจ้างเงินชดเชยให้คำนวณตามค่าจ้างอัตราสุดท้าย ในส่วนที่เกี่ยวกับ “ค่าจ้าง” มีบทนิยามคำว่า “ค่าจ้าง”ไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๓ ออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ ว่า หมายความถึงสินจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ไม่ว่าสินจ้างนั้นจะเรียกชื่อกำหนด คำนวณ หรือจ่ายอย่างไรก็ตาม ฯลฯ ตามบทนิยามของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่ากระทรวงมหาดไทยได้กำหนดบทนิยามขึ้นเพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินเป็นสินจ้างหรือค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนในผลงานของลูกจ้างที่ได้ทำงานมา และเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๒๗ กล่าวคือ นายจ้างต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างเป็นพิเศษต่างหากนอกเหนือจากเงินค่าจ้างที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้วเมื่อเลิกจ้างเท่ากับค่าจ้างไม่น้อยกว่าสามสิบวัน โดยคำนวณตามค่าจ้างอัตราสุดท้าย ตามบทนิยามของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวนี้ เงินชดเชยนั้นเนื้อแท้ก็เป็น “ค่าจ้าง” ที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นพิเศษตามความมุ่งหมายในประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๒ นั่นเอง ศาลฎีกาจึงเห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยที่กำหนดการปฏิบัติในเรื่องนี้ กระทรวงมหาดไทยย่อมมีอำนาจที่จะทำได้ หาได้นอกเหนืออำนาจที่ประกาศของคณะปฏิวัติกำหนดให้ไว้ไม่ ประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมีผลบังคับได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องต้องจ่ายเงินค่าจ้างซึ่งมีชื่อเรียกตามประกาศกระทรวงมหาดไทยว่า “เงินชดเชย” ให้แก่นายจำนงค์ ศรีคชา กับพวก ถ้าโจทก์ได้จ้างไว้จริงแล้วเลิกจ้างตามที่จำเลยเคยมีคำสั่งให้จ่าย แต่โจทก์จะได้ตกลงจ้างนายจำนงค์ ศรีคชา กับพวกจริงหรือไม่ และจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายเป็นเงินเท่าใดนั้น ยังเป็นเรื่องที่โต้เถียงกันอยู่ ซึ่งศาลชั้นต้นยังมิได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลย จำเป็นที่จะต้องให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในประเด็นที่โจทก์จำเลยยังโต้เถียงกันดังกล่าว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลล่าง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share