แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องผู้อื่นเป็นจำเลยและขอให้ริบธนบัตรของกลาง โดยอ้างการกระทำอันจะเป็นเหตุให้ริบธนบัตรว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102แต่คดีนี้พนักงานอัยการผู้ร้องอ้างเหตุให้ริบธนบัตรจำนวนเดียวกันนั้นว่า เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ยึดไว้แล้วตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 16(3),22,27,29 และ 31เมื่อคดีนี้กับคดีก่อนจำเลยมิใช่บุคคลคนเดียวกัน ทั้งมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตลอดจนการกระทำที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลริบธนบัตรแตกต่างกัน การพิจารณาคดีนี้จึงไม่เป็นการร้องซ้อน หรือร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับทำให้สิทธิของผู้ร้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้คัดค้านถูกฟ้องในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9871/2541 ให้ลงโทษจำคุกผู้คัดค้าน25 ปี ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของผู้คัดค้านซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5047/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรสาครริบเมทแอมเฟตามีนและเฮโรอีนของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 เจ้าพนักงานตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลท่าข้าม ร่วมกันจับกุมผู้คัดค้านและนางสาวอาหลี แซ่ฟาง พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน จำนวน 7,572 เม็ด น้ำหนักรวม 723.83 กรัม เฮโรอีน จำนวน 13 ถุง น้ำหนักรวม254.63 กรัม และยึดได้ธนบัตรจำนวน 645,120 บาท เป็นของกลางคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านแล้ว ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านคือธนบัตรจำนวน 645,120 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อาศัยอำนาจตามมาตรา 16(3), 22 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีมติให้ยึดธนบัตรจำนวน 645,120บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งริบธนบัตรจำนวน 645,120 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 มาตรา 29, 31
เลขาธิการปิดประกาศและแจ้งให้ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดี โดยปิดประกาศที่สำนักงานที่สถานีตำรวจท้องที่ที่มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน อย่างน้อยเจ็ดวันและประกาศอย่างน้อยสองวันติดต่อกันในหนังสือพิมพ์ที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่น กับแจ้งให้ผู้คัดค้านทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ธนบัตรจำนวน 645,120 บาทผู้คัดค้านได้มาโดยสุจริตโดยประกอบการขายอาหาร ประเภทข้าวมันไก่และก๋วยเตี๋ยวที่บริเวณคอนโดคอมแพ็กวงแหวน ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร ผู้คัดค้านมีรายได้วันละ3,500 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีกำไรวันละ 1,200 บาท ปีหนึ่งมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าสามแสนบาท ผู้คัดค้านทำการค้าติดต่อกันมากว่าสองปีแล้วจึงเก็บเงินสะสมไว้ในบ้าน เนื่องจากผู้คัดค้านเป็นชาวจีนภูเขา ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนจึงไม่มีหลักฐานไปแสดงเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร และธนบัตรจำนวนดังกล่าวศาลได้มีคำพิพากษาไม่ริบ แต่ได้คืนเจ้าของในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้น ซึ่งมีนางสาวอาหลี แซ่ฟางเป็นจำเลยเมื่อผู้ร้องขอให้ริบธนบัตรจำนวนนี้อีก จึงเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4)ขอให้ยกคำร้องและคืนธนบัตรจำนวน 645,120 บาท แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบธนบัตรจำนวน 645,120 บาท ของกลางตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามมาตรา 29, 31 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่าผู้คัดค้านถูกฟ้องฐานมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้าน 25 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9871/2541 และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของผู้คัดค้านซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5047/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรสาครริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนของกลาง คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกมีว่า การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบธนบัตรจำนวน 645,120 บาท เป็นการร้องซ้อนหรือร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ผู้คัดค้านฎีกาว่า โจทก์แยกฟ้องนางสาวอาหลีแซ่ฟาง เป็นคดีอาญาหมายเลขดังกล่าวและมีคำขอให้ริบธนบัตร จำนวน 645,120 บาท ของกลาง ซึ่งเป็นธนบัตรจำนวนเดียวกับธนบัตรที่ขอให้ริบในคดีนี้ คดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วไม่ริบธนบัตรของกลางที่ขอให้ริบคดีนี้โดยสั่งให้คืนแก่เจ้าของ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 และถือว่าสิทธินำคดีมาร้องของผู้ร้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) นั้น เห็นว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องผู้อื่นเป็นจำเลยและขอให้ริบธนบัตรของกลางจำนวนนี้ โดยอ้างการกระทำของจำเลยดังกล่าวอันจะเป็นเหตุให้ริบธนบัตรของกลางว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยในคดีดังกล่าวได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 102 แต่คดีนี้ผู้ร้องอ้างเหตุให้ริบธนบัตรจำนวนเดียวกันนี้ว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวไว้แล้วตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 16(3), 22, 27, 29และ 31 จึงเห็นได้ว่าคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541ของศาลชั้นต้น จำเลยมิใช่บุคคลคนเดียวกัน ทั้งมีประเด็นปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตลอดจนการกระทำที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลพิจารณาริบธนบัตรจำนวนนี้แตกต่างกัน ดังนั้น การพิจารณาคดีนี้จึงหาเป็นการร้องซ้อนหรือร้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8769/2541 ของศาลชั้นต้น หรือทำให้สิทธิของผู้ร้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(4) ดังฎีกาของผู้คัดค้านแต่ประการใดไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านต่อไปมีว่า ธนบัตรจำนวน 645,120 บาท เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่โดยผู้คัดค้านฎีกาว่าผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันและหักล้างพยานหลักฐานและข้อกล่าวอ้างของผู้คัดค้านได้ ขอให้ยกคำร้องและคืนธนบัตรจำนวนดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านนั้น เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านถูกฟ้องในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกผู้คัดค้าน 25 ปี คดีถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 9871/2541 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น ตามปัญหานี้จึงต้องตามบทบัญญัติมาตรา 29 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534ซึ่งให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าธนบัตรจำนวน 645,120 บาท ที่ผู้คัดค้านมีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตกเป็นภาระของผู้คัดค้านที่ต้องพิสูจน์ว่าธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ได้มาโดยสุจริตและทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งผู้คัดค้านนำสืบได้ความเพียงว่า ธนบัตรจำนวน 645,120 บาท เป็นทรัพย์สินของตนที่แท้จริงแต่ที่อ้างว่าเป็นส่วนกำไรที่ผู้คัดค้านเก็บรวบรวมได้จากการขายข้าวมันไก่ ข้าวมันไก่ทอดและก๋วยเตี๋ยวเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปีโดยผู้คัดค้านและนางสาวอาหลี แซ่ฟาง ผู้ร่วมกระทำความผิดในคดียาเสพติดให้โทษกับผู้คัดค้านเบิกความเพียงลอย ๆ เท่านั้นหาได้พยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนไม่ ความข้อนี้นายศิกวัสบรรลุศาสตร์ พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบทรัพย์สินและยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านพยานผู้ร้องเบิกความว่าผู้คัดค้านให้ถ้อยคำในการสอบสวนว่านำรถเข็นมาใช้ขายข้าวมันไก่ใช้ไก่วันละ 4 ตัวมีรายได้วันละ 3,500 บาท ถึง 3,900 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วจะมีกำไรวันละประมาณ 800 บาท ถึง 1,000 บาท แต่จากการตรวจสอบร้านขายข้าวมันไก่ของเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแล้ว ไก่ 4 ตัว จะขายได้ 60 จาน จานละ 20 บาทจะมีรายได้ประมาณ 1,200 บาทต่อวัน และมีกำไรวันละไม่เกิน200 บาท ทั้งตามบันทึกถ้อยคำของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.7ที่ให้ไว้ต่อนายศิกวัสพยานผู้ร้อง ผู้คัดค้านให้ถ้อยคำว่าขายแต่ข้าวมันไก่เพียงอย่างเดียว หาได้ขายข้าวมันไก่ทอดและก๋วยเตี๋ยวดังที่เบิกความไม่ และกำไรจากการขายข้าวมันไก่เพียงอย่างเดียวต่อวันก็ขัดแย้งกับการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ดังที่นายศิกวัสเบิกความ นอกจากนี้ร้อยตำรวจเอกลือศักดิ์ดำเนินสวัสดิ์ พยานผู้ร้องอีกปากหนึ่งผู้ตรวจค้นจับกุมผู้คัดค้านเบิกความว่า ธนบัตรจำนวน 645,120 บาท ที่พบในกระเป๋าเอกสารวางอยู่ในตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอน ผู้คัดค้านรับว่าได้มาจากการจำหน่ายเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน ประกอบทั้งเมื่อพิจารณาภาพถ่ายธนบัตรของกลางหมาย ร.4 แล้ว เห็นได้ว่าเป็นธนบัตรใหม่แบ่งแยกชนิดอย่างเป็นระเบียบมีสายรัดของธนาคารรัดไว้แต่ละปึก จึงไม่น่าจะเป็นธนบัตรที่ผู้คัดค้านเก็บสะสมไว้จากการขายข้าวมันไก่ และยังได้ความอีกว่าก่อนหน้านี้ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษโดยถูกฟ้องในข้อหาจำหน่ายยาเสพติดให้โทษคดีอื่น ผู้คัดค้านให้การรับสารภาพศาลพิพากษาลงโทษจำคุก คดีถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5047/2541 ของศาลจังหวัดสมุทรสาครเช่นนี้ ที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ธนบัตรจำนวน 645,120 บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ได้มาโดยสุจริตจากการขายข้าวมันไก่ ข้าวมันไก่ทอดและก๋วยเตี๋ยวนั้นจึงไม่มีน้ำหนักที่จะหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ร้องได้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าธนบัตรจำนวน645,120 บาท ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านแต่เป็นทรัพย์สินที่มีอยู่หรือได้มาเกินกว่าฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริตอันเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องริบธนบัตรจำนวนดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามความในมาตรา 29 และมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ.ศ. 2534 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน