แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ระบุเพียงว่า ก่อนชิงทรัพย์จำเลยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกในการเดินทางมาทำการชิงทรัพย์ จะแปลข้อความไปในทางที่เป็นผลร้ายว่า จำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะจำเลยอาจเพียงแต่ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางมาและจอดรถไว้แล้วเดินไปยังที่เกิดเหตุซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่งแล้วทำการชิงทรัพย์โดยไม่ใช้รถจักรยานยนต์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลยก็ได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจแปลได้ว่าจำเลยใช้รถจักรยานยนต์เพื่อกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ที่จะต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำหนัก2 สลึง 1 เส้น ราคา 2,000 บาท พร้อมพระนางกวักเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา2,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,000 บาท ของนางสาวเพ็ญนภา อำพร ผู้เสียหายโดยใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียนเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกในการเดินทางมาทำการชิงทรัพย์ และใช้กำลังประทุษร้ายกระชากสร้อยคอดังกล่าวจากคอผู้เสียหายแล้วดึงผู้เสียหายจนตกจากรถจักรยานยนต์เป็นเหตุให้ร่างกายของผู้เสียหายครูดไปกับพื้นถนนได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ เจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ที่จำเลยทั้งสองใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางมากระทำผิดเป็นของกลางและยึดสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง ครึ่งเส้นได้จากจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้ว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 339, 340 ตรี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 3,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 83 จำเลยที่ 1 อายุ 19 ปี มีความรู้ผิดชอบ ไม่มีเหตุสมควรลดมาตราส่วนโทษให้ จำคุกคนละ 18 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 9 ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 3,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสามเท่านั้นให้ลงโทษจำคุกคนละ 12 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การเดินทางมาทำการชิงทรัพย์ เป็นการบรรยายที่ระบุชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อกระทำความผิดชิงทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว โดยเป็นการบรรยายตอกย้ำให้เห็นว่าจำเลยร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดชิงทรัพย์ของผู้เสียหาย โดยเพิ่มความสะดวกในการเดินทางมาเพื่อกระทำผิดชิงทรัพย์ของผู้เสียหายยิ่งกว่าการเดินทางธรรมดาที่ปราศจากยานพาหนะมากระทำความผิดชิงทรัพย์ของผู้เสียหายในลักษณะเดียวกันกับการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะ เพื่อกระทำผิดชิงทรัพย์นั้นเองคำฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีแล้ว นั้น เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่สามารถแปลความหมายว่า จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดชิงทรัพย์ดังโจทก์ฎีกาได้ เพราะตามคำฟ้องได้ความเพียงว่า ก่อนชิงทรัพย์ผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การเดินทางมาทำการชิงทรัพย์เท่านั้น จะแปลข้อความดังกล่าวไปในทางที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเพื่อกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสองอาจเพียงแต่ใช้รถจักรยานยนต์เดินทางมา และจอดรถไว้แล้วเดินไปยังที่เกิดเหตุซึ่งอยู่อีกแห่งหนึ่งแล้วทำการชิงทรัพย์โดยไม่ใช้รถจักรยานยนต์คันนี้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเลยก็ได้ คำฟ้องโจทก์จึงไม่อาจแปลหรือเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเพื่อกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ดังที่โจทก์ฎีกาฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน