คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 515/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ขณะจำเลยตั้งโรงงานประกอบเครื่องขีดไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตจะยังไม่มีกฎกระทรวงออกใช้ตามเก็บภาษีเครื่องขีดไฟฯ พ.ศ.2476 ก็ตามก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นผิดไปได้ เพราะตามมาตรา 6,8, แห่งพระราชบัญญตินี้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวงก็เพื่อควบคุมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่จะขออนุญาตประกอบเครื่องขีดไฟดังบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 นั้นเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยตั้งโรงงานอุตสาหกรรม ประกอบเครื่องขีดไฟโดยไม่เสนอแผนผังและไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. เก็บภาษีเครื่องขีดไฟ ซึ่งทำในพระราชอาณาเขต พ.ศ. 2476 มาตรา 4, 9

จำเลยต่อสู้ว่า ไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้และว่าวิธีการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัตินี้ เพิ่งออกกฎกระทรวงเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2499 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยถูกจับแล้ว จำเลยจึงไม่ได้ปฏิบัติตาม พระราชบัญญัตินี้ กับว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะจำเลยเลิกโรงงานนี้เกิน 1 ปีแล้ว ก่อนถูกจับ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามชื่อพระราชบัญญัตินี้ระบุชัดแจ้งว่าเป็นกฎหมายออกมาเพื่อเก็บภาษีเครื่องขีดไฟ แต่วิธีการจัดเก็บ วิธีการอนุญาต ตลอดจนตั้งพนักงานวางอัตราค่าธรรมเนียมที่จะปฏิบัติให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัตินี้จะต้องอาศัยกฎกระทรวงซึ่งจะออกตาม มาตรา 6, 8 แต่นับตั้งแต่ พระราชบัญญัตินี้ ประกาศใช้แล้ว 24 ปี กฎกระทรวงเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2499 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจับจำเลยแล้ว เมื่อจำเลยเป็นมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐโดยความประสงค์จะตั้งโรงงานประกอบเครื่องขีดไฟ แต่รัฐไม่มีวิธีการเก็บภาษีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ จะเอาโทษแก่จำเลยยังไม่ชอบพิพากษายกฟ้อง ของกลางคืนจำเลย

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ขั้นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทำเครื่องขีดไฟไม่จำต้องอาศัยกฎกระทรวงแต่อย่างใด ที่จะต้องอาศัยกฎกระทรวง คือขั้นเก็บภาษี จำเลยจะเอาความไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้อยู่มาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ พิพากษากลับว่า จำเลยผิดตาม พระราชบัญญัติเก็บภาษีเครื่องขีดไฟฯ พ.ศ. 2476 มาตรา 4, 9 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เครื่องขีดไฟสำเร็จรูปของกลางตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับ 32-33 ให้ริบ ของกลางนอกนั้นคืนจำเลย

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 6, 8 แห่ง พระราชบัญญัติ นี้ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกกฎกระทรวง ก็เพื่อควบคุมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายฉบับนี้ หาได้เกี่ยวข้องกับการที่จะขออนุญาตประกอบเครื่องขีดไฟดังบัญญัติในมาตรา 4 นั้นไม่ ฉะนั้น แม้ขณะจำเลยตั้งโรงงานประกอบเครื่องขีดไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตนี้จะยังไม่มีกฎกระทรวงออกใช้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตาม ก็หาทำให้จำเลยพ้นผิดไม่และฟังว่าจำเลยไม่รู้ถึงการที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่โจทก์ฟ้องสมควรลงโทษปรับสถานเบา จึงพิพากษาแก้เฉพาะโทษปรับโดยให้ปรับเพียง 100 บาท ของกลางคงให้ริบเฉพาะอันดับ 32 ส่วนอันดับที่ 33 ยึดได้จากร้านอื่น ไม่ริบ ให้คืนเจ้าของ เพราะโจทก์ขอให้ริบแต่ของกลางที่จับได้จากโรงงานจำเลย

Share